svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"สวนดุสิตโพล" ชี้ ปชช.ไม่ค่อยเชื่อมั่น "รัฐบาล" แก้ปัญหาสินค้าราคาแพง

30 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของ "สวนดุสิตโพล" พบส่วนใหญ่ประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่น "รัฐบาล" แก้ปัญหาสินค้าราคาแพง โดยภาพรวมอาจแบกรับภาระได้ไม่เกิน 3 เดือน

วันนี้ (30 ม.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อกรณีการใช้ชีวิตของคนไทยในยุคข้าวของแพง จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,383 คน ระหว่างวันที่ 24-27 ม.ค.พบว่า สินค้าที่พบเห็นหรือซื้อแพงกว่าปกติ อันดับ 1 คือ เนื้อหมู ร้อยละ 92.75 รองลงมาเป็นข้าวแกง ข้าวถุง อาหารตามสั่ง ร้อยละ 72.44

 

สาเหตุที่ทำให้สินค้าแพง คือ เกิดโรคระบาดในสัตว์ ร้อยละ 65.02 มีการกักตุนและปั่นราคาสินค้า ร้อยละ 64.22 โดบประชาชนแก้ปัญหาด้วยการควบคุมการใช้จ่าย ประหยัด ร้อยละ 77.20 รองลงมาคือใช้สินค้าชนิดนั้นลดลง ร้อยละ 66.67

 

นอกจากนี้ประชาชนอยากให้รัฐบาลพูดความจริง ไม่ปิดบังข้อมูลร้อยละ 58.99 ตรึงราคาร้อยละ 58.27 หน่วยงานที่ควรเข้ามาแก้ปัญหาสินค้าแพง คือ กระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 79.60 ส่วนร้อยละ 57.88 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาสินค้าแพงของรัฐบาล ร้อยละ 47.27 ส่วนร้อยละ 35.42 ไม่ค่อยเชื่อมั่น ขณะที่ภาพรวมประชาชนคาดว่าจะแบกรับภาระราคาสินค้าแพงไปได้อีกประมาณไม่เกิน 3 เดือน อยู่ร้อยละ 34.93 , ส่วนไม่เกิน 6 เดือน ร้อยละ 28.53 , ไม่เกิน 1 เดือน ร้อยละ 18.56 , และมากกว่า 6 เดือน ร้อยละ 17.98”

 

ดร.วิทยา ศิริพันธ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรรมการบริหารหลักสูตรธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ราคาเนื้อหมูที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคระบาดในสุกรในหลายประเทศ ประกอบกับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยลดลง ทำให้อุปทานของเนื้อหมูลดลง ต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาอาหารสูงขึ้น

นอกจากนี้อุปสงค์ของน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ปัญหาเงินเฟ้อจึงทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประชาชนกลุ่มที่รายได้น้อย จะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง เห็นได้จากกลุ่มตัวอย่าง 53% ไม่สามารถแบกรับภาระได้เกิน 3 เดือน

 

ดังนั้นนอกจากการช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่ต้องเพิ่มการผลิต ป้องกันการกักตุนสินค้า ชะลอการส่งออกและเพิ่มการนำเข้าแล้ว ประชาชนทั่วไปอาจทำบัญชีรายจ่ายวิเคราะห์ตัด หรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เลือกอาหารที่มีโปรตีนสูง แต่ราคาไม่สูงนัก และจัดการหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยบรรเทารายได้ไม่พอรายจ่ายในช่วงนี้

"ดุสิตโพล" ชี้ประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่น รัฐบาลแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง

logoline