svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เรืองไกร" ร้องกกต. สอบ "นายกฯ-วิษณุ-สมศักดิ์"

27 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ร้องกกต. สอบ "นายกฯ-วิษณุ-สมศักดิ์" ปมตั้ง "สราวุธ เบญจกุล" โดยพลการส่อเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามหมวด 9 ของรธน. 60 มาตรา 186 วรรคสอง หรือไม่ และจะเข้าข่ายทำให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตาม มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งจะลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไม่ถึง 24 ชั่วโมง เปิดเผยว่า เมื่อทราบข่าวมีการร้องเรียนของผู้พิพากษา 3 ท่าน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) จึงได้ตรวจสอบมติครม. และพบประเด็นที่สามารถส่งหนังสือร้องไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านทางไปรษณีย์

 

นายเรืองไกร บอกว่า ขอให้ กกต.ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ว่า มีการกระทำเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในมาตรา 186 วรรคสอง หรือไม่ และจะเข้าข่ายทำให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่แล้ว

"เรืองไกร" ร้องกกต. สอบ "นายกฯ-วิษณุ-สมศักดิ์"

นายเรืองไกร เผยว่า สืบเนื่องจากปรากฏตามข่าวมีกลุ่มผู้พิพากษาได้ร้อง ป.ป.ช. กล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจในตำแหน่งแต่งตั้งหรือเห็นชอบให้ นายสราวุธ เบญจกุล ไปดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยพลการ อันเป็นการแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 193 และขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 91 และชี้มูลว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองข้างต้น เป็นความผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่

นายเรืองไกร เปิดเผยว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องของกลุ่มผู้พิพากษาดังกล่าว ในเรื่องการแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลยุติธรรม และการขอให้ตรวจสอบว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองข้างต้นเป็นความผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่นั้น อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 วรรคสอง และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ตามมาด้วย

 

ดังนั้น เป็นกรณีที่ กกต.มีหน้าที่และอำนาจ ดำเนินการได้ ข้อเท็จจริงที่อาจเกี่ยวข้องกับ กกต. คือกรณีการแต่งตั้งนายสราวุธ เบญจกุล ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยพลการ อันเป็นการแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลยุติธรรม กับกรณีการแต่งตั้งนายสราวุธ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งมีนายวิษณุ เป็นประธานกรรมการคดีพิเศษ แต่มิได้มีการขออนุญาตตามระเบียบของทางราชการศาลยุติธรรม

วิษณุ เครืองาม

นายเรืองไกร กล่าวว่า เรื่องกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ ต้นเรื่องมาจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามความในหนังสือที่ ยธ 0816/4130 ลงวันที่ 20 พ.ค.64 ดังนั้น กรณีการแต่งตั้งนายสราวุธ จึงควรเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีถึง 3 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ นายวิษณุ และนายสมศักดิ์

 

ด้วยเหตุนี้จึงส่งหนังสือเพื่อขอให้ กกต.ตรวจสอบทั้ง 3 คน และหากกกต.พิจารณาว่ามีมูล ก็จะเชิญผู้พิพากษา 3 ท่านที่ทำเรื่องร้อง คณะกรรมการป.ป.ช. มาให้ข้อมูล และรวมถึงเชิญให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายวิษณุ และนายสมศักดิ์ ชี้แจง เมื่อต่างฝ่ายต่างชี้แจงแล้ว กกต.มีหน้าที่ยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า ว่า มีการกระทำเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในมาตรา 186 วรรคสอง หรือไม่ และจะเข้าข่ายทำให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

 

logoline