svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ดร.เอ้"ประกาศชวนคนกล้ามาร่วมเปลี่ยนฉุดกรุงเทพพ้นน้ำท่วม

20 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" ยกอินโดนีเซียกล้าเปลี่ยนแปลงย้ายเมืองหลวง สะท้อนสัญญาณเมืองจมบาดาล พร้อมเสนอตัวแก้กรุงเทพพ้นน้ำท่วม มั่นใจแก้ได้ไม่ต้องย้ายเมือง

20 มกราคม 2565 ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก เอ้ สุชัชวีร์ โดยระบุถึง อินโดนีเซียย้ายเมืองหลวง ถือเป็นสัญญาณแรง เรื่องเมืองจมน้ำเป็นเรื่องจริง ว่า

 

เมื่อ...กรุงจาการ์ตาย้าย สัญญาณแรง กรุงเทพต้องสู้ ต้องเปลี่ยน เพื่อความอยู่รอดของลูกหลานไทย

 

เมื่อทราบข่าวว่าอินโดนีเชีย ประกาศย้ายเมืองหลวงจาก "กรุงจาการ์ตา" หนีปัญหาน้ำท่วม ย้ายข้ามเกาะไปเมือง "นูซันตารา" คิดแล้วใจหาย ผมไม่ขอวิจารณ์ว่าคิดถูกหรือผิดอย่างไร เพราะอินโดนีเซียคงไตร่ตรองมาแล้ว

 

แต่ผมฉุกคิดถึง "กรุงเทพ" ของเรามากกว่า ถึงวันนี้ หากเราไม่ทำอะไร ไม่เปลี่ยน รอดยาก

 

"ดร.เอ้"ประกาศชวนคนกล้ามาร่วมเปลี่ยนฉุดกรุงเทพพ้นน้ำท่วม

 

เรื่องน้ำท่วมกรุงเทพนี่แหละครับ คืออีกเรื่องสำคัญ ที่ผมต้องกล้าเสนอตัว ออกมารับใช้เป็นผู้ว่า กทม. จัดการกับเรื่องนี้ให้ได้

 

เพราะ "ผมจะไม่ย้ายไปไหน กรุงเทพคือบ้านผม" และของพลเมืองมากกว่าสิบล้านคน ผมมั่นใจว่า แก้น้ำท่วมกรุงเทพ ไม่ต้องย้ายเมืองหลวง #เราทำได้

ผมทำงานกับดินกรุงเทพมาตลอดวิชาชีพวิศวกรธรณีเทคนิค และเคยทำงานใกล้ชิดกับวิศวกรและนักวิชาการอินโดนีเซีย เมื่อครั้งเป็นนายกวิศวกรรมสถานฯ เป็นประธานงานอุโมงค์โลก 2012 และเป็นประธานสมาคมสถาบันอุดมศึกษาอาเซียน จึงได้รับรู้ปัญหาของทั้งจาการ์ตา และกรุงเทพ รู้ว่าสองเมืองมีปัญหาที่คล้ายกัน

 

ใครคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ไม่ว่ากัน แต่อย่าดูถูกวิศวกรอินโดนีเซียเด็ดขาด ผมกล้าพูดเลยว่า คุณภาพวิศวกรเขาก็ไม่ธรรมดา ทั้งยังได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากเนเธอแลนด์ เจ้าพ่อเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม ในฐานะเจ้าอาณานิคมเก่า

 

และคิดผิดถูกอย่างไร อย่างน้อยก็ควรชื่นชม ผู้ว่าราชการจาการ์ตา และประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่มีความกล้าหาญ เพราะ "กล้าเปลี่ยนแปลง" เพื่ออนาคตลูกหลาน ดีกว่า "อยู่เฉยๆ" รอชะตากรรม

 

"ดร.เอ้"ประกาศชวนคนกล้ามาร่วมเปลี่ยนฉุดกรุงเทพพ้นน้ำท่วม

มาดูกันว่า กรุงจาการ์ตา และกรุงเทพ มีความคล้ายกันอย่างไร

 

1. เป็นเมืองหลวง เมืองราชการ เมืองธุรกิจ เป็นทุกอย่างของประเทศเหมือนกัน และเป็นมหานครที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน เช่นเดียวกัน ดังนั้นก็เจอปัญหาวิกฤตเหมือนกัน ทั้งรถติด มลพิษ และที่หนักหนาคือ ปัญหาน้ำท่วม น้ำทะเลหนุน

 

2. เป็นเมืองดินอ่อน "คล้ายกัน" เพราะเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำเหมือนกัน ที่ดินทับถมใหม่ๆ ทรุดตัวง่ายตามธรรมชาติ และมีอัตราเร่งการทรุดตัวจากการพัฒนาเมือง และการสูบน้ำบาดาล แม้จาการ์ตาจะมีอัตราการทรุดตัวที่มากกว่ากรุงเทพ แต่พื้นดินกรุงเทพส่วนใหญ่ก็อยู่ต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยา และบางพื้นที่อาจอยู่ระดับใกล้เคียงระดับน้ำทะเลไปแล้ว พื้นดินทรุดง่ายเหมือนกัน ลองดูถนนลูกคลื่นในกรุงเทพ ทุกท่านก็รู้แล้วว่าดินทรุดมันน่ากลัวแค่ไหน จริงยิ่งกว่าจริง

 

"ดร.เอ้"ประกาศชวนคนกล้ามาร่วมเปลี่ยนฉุดกรุงเทพพ้นน้ำท่วม

 

พูดง่ายๆ คือ ทั้งกรุงจาการ์ตา และกรุงเทพ ก็เสี่ยงจมน้ำแผ่นดินหาย ในอนาคต เหมือนกัน

 

กรุงจาการ์ตา พยายามสู้มาหลายปี ทั้งลดปริมาณการสูบน้ำบาดาล และทำเขื่อนป้องกันน้ำทะเล แต่เมื่อคำนวณแล้ว หากประชากรยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมืองยังขยายไปเรื่อยๆ พื้นดินก็ทรุดตัวไปเรื่อยๆ (เหมือนกรุงเทพ) ยังไงก็ลำบาก และฟางเส้นสุดท้ายคือ ภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ฝนตกหนักขึ้น และน้ำทะเลสูงขึ้น เลยคิดว่าไม่น่าจะเอาอยู่ ไปดีกว่า

 

แล้วกรุงเทพ? เราจะไม่เตรียมอะไรเลยหรือครับ? ก็จมสิครับ...

 

แต่ผมยังมั่นใจ เรายัง "ฉุดกรุงเทพ" ให้รอดจากการจมน้ำในอนาคตได้

 

กรุงเทพแม้จะอยู่ในชะตากรรมคล้ายกับจาการ์ตา แต่สถานการณ์วันนี้ยังดีกว่านิดหน่อย คือ พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ติดทะเลโดยตรง มีติดทะเลที่เขตบางขุนเทียนเพียงประมาณ 5 กม.เท่านั้น  และการสูบน้ำบาดาล ต้นเหตุของการทรุดตัว ปัจจุบันถูกควบคุม ดีขึ้น ทำให้การทรุดตัวไม่รุนแรงเท่าจาการ์ตา

 

"ดร.เอ้"ประกาศชวนคนกล้ามาร่วมเปลี่ยนฉุดกรุงเทพพ้นน้ำท่วม

 

แต่กระนั้น ลองคิดง่ายๆ หากกรุงเทพทรุดตัว เพียงแค่ปีละเพียง 2-3 ซม. ผ่านไป 20 ปี ลูกเกิดมายังไม่จบมหาวิทยาลัย ก็ทรุดครึ่งเมตรแล้ว หนักนะครับ เพราะปัจจุบันหลายพื้นที่ของกรุงเทพ ก็ปริ่มระดับน้ำทะเลแล้ว วันนั้นก็จมมิดสิครับ

 

เรายังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะโลกร้อน ทำให้ฝนตกรุนแรงขึ้น ตกผิดฤดู และน้ำทะเลหนุนที่สูงขึ้นทุกปีๆ แค่ปีหนีชาวบ้านแถวสะพานซังฮี้ ก็หนีน้ำทะลักแทบไม่ทัน แถวลาดกระบังน้ำก็ท่วมขังหลายสัปดาห์ เพราะพื้นดินต่ำ น้ำสูง ชัดเจน เมื่อแผ่นดินต่ำลง น้ำทะเลสูงขึ้น ซ้ำด้วยน้ำฝน กรุงเทพก็อ่วม ไม่รอด หากเราไม่ทำอะไรจริงจัง เพื่ออนาคตลูกหลาน

 

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นอยู่ แค่พอประทัง เหมือนให้ยาแก้ปวดกับคนเป็นไส้ติ่งอักเสบ แต่หากไม่ผ่าตัดไส้ติ่งออก คงรอดยาก ตาย ดังนั้น ผู้ว่ากทม. คือ ตัวแทนคนกรุงเทพ ต้องกล้าคิด กล้าพูด กล้าริเริ่ม ผลักดันการป้องกันเมืองจมน้ำ ทั้งจากน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน อย่างยั่งยืน

 

ต้องประกาศ ร่วมกับจังหวัดชายฝั่ง ทั้งสมุทรปราการ สมุทรสาคร เริ่มวางแผนการป้องกัน กั้นน้ำทะเล เหมือนกับเนเธอแลนด์ อิตาลี ที่แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ต้องรู้จริง เข้าใจปัญหาลึกซึ้ง เพราะผู้ว่ากทม.ต้องระดมพลังความรู้ภายในประเทศและต่างประเทศ และพลังเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ทั้งต้องลดผลกระทบต่อประชาชน จึงอาจต้องให้เวลานานกว่า 10-20 ปี ถึงจะทำสำเร็จ

 

ไม่เริ่มวันนี้ แล้ววันนั้นแผ่นดินจะทรุดต่ำลงไปแค่ไหน และน้ำทะเลจะสูงขึ้นไปถึงไหนแล้ว ไม่ทัน น่ากลัวจริงๆ ขอให้ทุกท่านเห็น กรุงจาการ์ตา คือ บทพิสูจน์ว่า เรื่องเมืองจมน้ำเป็นเรื่องจริง ผู้นำต้องกล้าคิด กล้าพูด และกล้าลงมือทำ เพราะหากถึงวันนั้น กรุงเทพจม คำขอโทษให้ลูกหลานเรา คงไม่พอ

 

อีกครั้ง ผมมั่นใจ เปลี่ยนกรุงเทพ ให้รอดจากน้ำท่วม #เราทำได้

logoline