svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ชำแหละปมเดือด "ม.112" สะท้อนความขัดแย้งของคน 2 เจเนอเรชั่น

26 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดปมความขัดแย้ง ข้อเรียกร้องแก้ไขกฎหมาย หรือยกเลิก "ม.112" ซึ่งกลายเป็นรอยร้าวของคน 2 รุ่น ในสังคมไทยเวลานี้

“ปี 2564” ถือเป็นปีที่แวดวงการเมืองไทย เผชิญหน้าประเด็นร้อนแรงต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคงเป็น “ข้อพิพาท” เกี่ยวกับตัวบทกฎหมายอาญามาตรา “112” ที่หลายกลุ่มออกมา “เปิดหน้า” วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา แตกต่างจากกลุ่มซ้ายจัดสมัยก่อนที่หลบๆ ซ่อนๆ

 

โดยเฉพาะภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การกระทำของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ปราศรัยเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันเบื้องสูง 10 ข้อเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ประกอบด้วย

ชำแหละปม "ม.112" ความขัดแย้งของคน 2 เจเนอเรชั่น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ ไม่ใช่แค่การ “จุดไฟ” ชั่วข้ามคืน แต่มีการซ่องสุม “เชื้อเพลิง” มาเป็นเวลานานนับปี มาพร้อมกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบ “คณะราษฎร” ที่มีแกนนำอย่าง ทนายอานนท์ นำภา , “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ , “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก , “ไผ่ ดาวดิน”, และ “รุ้ง ปนัสยา”

ชำแหละปม "ม.112" ความขัดแย้งของคน 2 เจเนอเรชั่น

ทั้งหมดเริ่มปราศรัยพาดพิงสถาบันตั้งแต่ปี 2563 ด้วย “ชุดข้อมูล” ที่บรรดาคน “เสื้อแดง” ตั้งแต่ยุค “นปก.” เคยได้ยินผ่านหูผ่านตา จาก “วิทยุและรายการใต้ดิน” หรือนักวิชาการ “ลี้ภัย” ต่างแดน

 

นอกจากแนวร่วมคนรุ่นใหม่ ยังมีตัวละครเดิมๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว อย่าง “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่เคยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยมาตรา 112 เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ก็ถูกดำเนินคดีเช่นกัน ภายหลังขึ้นเวทีปราศรัย เรียกร้องให้ลดอำนาจสถาบันเบื้องสูง

 

แต่ที่น่าแปลกใจ เมื่อพบรายชื่อนักเรียน “ชั้น ม.6” ถูกแจ้งข้อหา ภายหลังจับไมค์ขึ้นเวที ซึ่งทางตำรวจมองว่า เนื้อหาที่ปราศรัย เป็นการสร้างความยุยงให้เกิดความเกลียดชัง

ชำแหละปม "ม.112" ความขัดแย้งของคน 2 เจเนอเรชั่น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “นักเรียน ม.6” กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สะท้อนให้เห็นมุมมองของ “เจเนอเรชั่น” คน “Gen-Y / Gen-Z” บางส่วนว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

แม้ทางแกนนำกลุ่ม “คณะราษฎร” จะถูกพันธนาการด้วย “ข้อหาต่างๆ” และหลายคนต้องเข้าไปเรียกร้องต่อในคุก ซึ่งทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 30 พ.ย.2564 มีผู้ถูกดำเนินคดี “ม.112” แล้วอย่างน้อย 162 คน จากจำนวน 166 คดี

 

แต่กลับกลายเป็น “สารตั้งต้น” ให้เกิดกลุ่มก้อนใหม่ๆ ขึ้นมารับไม้ต่อแทน เช่น กลุ่มคณะราษฎรรณรงค์ยกเลิก ม.112

ชำแหละปม "ม.112" ความขัดแย้งของคน 2 เจเนอเรชั่น

ซึ่งในคณะรณรงค์ จะแตกแยกย่อยเป็นกลุ่มต่างๆ แต่ล้วนเป็นคนหน้าเดิม เช่น เยาวชนปลดแอก , กลุ่ม ILaw , กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก , กลุ่มทะลุฟ้า , แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม , กลุ่มสลิ่มกลับใจ , กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย , เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี , เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน We Volunteer , และกลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น

 

โดยกิจกรรมที่เห็นได้ชัดเจนของคณะรณรงค์ เกิดขึ้นช่วงปลายเดือน ต.ค.และวันที่ 12 ธ.ค.ที่มีการจัดบูธบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อล่ารายชื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 โดยวางเป้าหมายที่ 1 ล้านรายชื่อ 

 

ขณะที่พรรคการเมือง อย่างพรรค “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” อ้างว่า ตัวกฎหมายมีปัญหา ทั้งเนื้อหาและการบังคับใช้ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจ เมื่อฝ่ายหลังมีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รีแบรนด์ตัวเองใหม่เป็น “พี่โทนี่”

ชำแหละปม "ม.112" ความขัดแย้งของคน 2 เจเนอเรชั่น

ครั้งนั้น “พี่โทนี่” บอกว่า ตัวกฎหมายไม่เคยมีปัญหา แต่คนที่มีปัญหา คือ คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม

 

สุดท้ายพรรค “เพื่อไทย” ต้องรีบออกมาแก้เกมพัลวัน ไม่ได้เป็นผู้เสนอแก้ไข แต่ขอทำหน้าที่เป็นทางผ่าน ขณะที่นายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีอีกคน ยืนยันว่า “ประมุขของรัฐ” ควรมีกฎหมายคุ้มครอง แต่มีสาระในตัวกฎหมาย ที่ต้องมีการพูดคุยกัน ฉะนั้นอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดใจรับฟังเสียงจากกลุ่มเยาวชน

 

ส่วนพรรค “พลังประชารัฐ” , “ประชาธิปัตย์” , และ “ภูมิใจไทย” ยืนหยัดอยู่อีกฝั่ง ไม่เห็นด้วยกับแก้ไขมาตรา 112 โดยมีกลุ่มการเมืองนอกสภา จากคนหน้าเก่าๆ ที่เคยออกมา “เป่านกหวีด” นำโดย “อดีตพระพุทธอิสระ” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ชูธงคัดค้านเต็มตัว

ชำแหละปม "ม.112" ความขัดแย้งของคน 2 เจเนอเรชั่น

โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐบาล ประกาศจุดยืนชัดเจนทุกครั้งว่า ไม่สนับสนุนการแก้ไข หรือยกเลิก “ม.112” เพราะการบริหารประเทศ ต้องอยู่ภายใต้เสาหลัก ทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

 

หากจับชีพจรของคนทั้ง 2 ฝั่ง การเคลื่อนไหวตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เปรียบเสมือน “สงครามระหว่างรุ่น” เมื่อกลุ่มคนยุค Baby Boomer กำลังยื้อ “ความเชื่อ” ต่อสู้กับ “คนรุ่นใหม่”

 

แม้ส่วนใหญ่จะเป็น “ชุดข้อมูลเดิม” แต่การใช้เทคโนโลยีขยายขอบเขตแดน “ความเชื่อ” ของคนยุคเก่า ทำให้ “เจเนอเรชั่น” คน “Gen-Y / Gen-Z” เริ่มกล้าออกมาพูด

ชำแหละปม "ม.112" ความขัดแย้งของคน 2 เจเนอเรชั่น

แต่สุดท้ายเมื่อขาดแกนนำหลักๆ พร้อมกับมีปัญหาเรื่อง “ล้วงลูก” จากฝ่ายการเมือง และคนในขบวนการเดียวกัน รวมถึงคดีความที่เข้ามาเยือนอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวร่วมบางส่วนเริ่มออกอาการ “ถอดใจ” อย่างเช่น “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงศ์ ที่ออกมาโพสต์แฉอย่างมีนัยว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับกลุ่มคนพวกนี้อีกแล้ว เนื่องจากไม่พอใจแนวทางการเคลื่อนไหวที่ไม่โปร่งใส

 

ดังนั้น นับจากนี้ต้องจับตาเสียงเรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย “ม.112” จะเดินไปสู่จุดไหน หรือจะเป็นเพียงแค่ “ควันไฟ” ที่ลอยไปไม่ถึงปลายอุโมงค์ เพราะประเด็นดังกล่าวค่อนข้างละเอียดอ่อน สังคมส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นเก่าที่คัดค้านแบบหัวชนฝา

 

อีกทางหนึ่ง ก็มีข่าวการเจรจากันลับๆ ระหว่างแกนนำกลุ่มที่โดนคดีกับฝ่ายการเมือง ให้หยุดการเคลื่อนไหวก่อม็อบ เพื่อแลกกับคดีความ

 

ส่วนจะจริงหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ ???

 

แต่ที่แน่ๆ ปัญหาดังกล่าว ได้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนสองยุคของสังคมไทยไปแล้ว!!

ชำแหละปม "ม.112" ความขัดแย้งของคน 2 เจเนอเรชั่น

logoline