svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

กม.ป้องกันการซ้อมทรมาน เพื่อไม่ให้เกิดคดีผู้กำกับโจ้ 2 หรือจะล่มพร้อมสภาฯ

24 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปรากฏการณ์คดีคลุมถุงดำ ที่สะเทือนขวัญประชาชนและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะวงการสีกากี ซึ่งไม่เคยปรากฏภาพมาก่อน นอกจากเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ขณะนี้มีการเสนอ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ รอเพียงสภาฯหยิบมาพิจารณา หรือจะล่มพร้อมสภาฯ

กม.ป้องกันการซ้อมทรมาน เพื่อไม่ให้เกิดคดีผู้กำกับโจ้ 2 หรือจะล่มพร้อมสภาฯ

สนั่นวงการสีกากี จากคดี คลุมถุงดำ ของ ผู้กำกับโจ้ หรือ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล พร้อมพวกรวม 7 นาย จนนายจิระพงศ์ หรือ มาวิน ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติดเสียชีวิต เรื่องนี้คงจะเงียบเหมือนกับคดีอื่นๆ ถ้าทนายดังไม่นำคลิปออกมาตีแผ่หลุมดำ ที่บอกเล่าสืบต่อกันมาถึงการใช้วิธีทรมานต่างๆ เพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพ ที่สำคัญคลิปนี้ได้มาจากตำรวจ ครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ในด้านมืดที่ประจานผลงานของตำรวจไม่ดี ที่มีอยู่จำนวนน้อย แต่ปลาข้องเดียวกันย่อมปฏิเสธกลิ่นคาวคุ้งไม่ได้ อยู่ที่ว่า จากนี้ไปจะชะล้าง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร นับเป็นโอกาสที่ดีของตำรวจและกระบวนการยุติธรรมในทุกระดับ

 

  • ด้านคดี

ศาลจังหวัดนครสวรรค์อนุมัติออกหมาย จับที่ 187 -193/2564 ลงวันที่ 25 ส.ค. 2564 ประกอบด้วย พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล  พ.ต.ต.รวีโรจน์ ดิษทอง  ร.ต.อ.ทรงยศ คล้ายนาค  ร.ต.ท.ธรณินทร์ มาศวรรณา ด.ต.วิสุทธิ์ บุญเขียว  ด.ต.ศุภากร นิ่มชื่น และ ส.ต.ต.ปวีณ์กร คำมาเร็ว ใน 3 ข้อหาร้ายแรง มีดังนี้

 

  • 1.เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
  • 2.ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด
  • 3.ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ทรมาน โดยกระทำทารุณโหดร้าย

 

โดยสอบสวนพยาน 35 ปาก พยานเอกสาร 14  รายการ  วัตถุพยาน 7 รายการ และเมื่อ 3 พ.ย. 64 อัยการสูงสุด ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีดังกล่าว กับผู้ต้องหาทั้งหมด ในทุกข้อหา

ส่วนคดีรถหรูของอดีต ผู้กำกับโจ้ ที่จับกุมเป็นรถผิดกฎหมาย ส่งศุลกากร กว่า 400 คัน พบพิรุธทั้งการจับกุมรถที่ไม่มีที่มาที่ไป เรื่องการรับสินบนนำจับ ขณะนี้กำลังขยายผล ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องหลายคน ทั้งผู้ร่วมทำธุรกิจรถหรู  ตำรวจ และ เจ้าหน้าที่ศุลกากร

 

ทั้งนี้ ตำรวจ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน( ป.ป.ง.) ได้อายัดทรัพย์ของ อดีต ผู้กำกับโจ้ ที่สันนิษฐานว่า เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ทั้งคฤหาสน์ ย่านบางชัน กรุงเทพฯ มูลค่า 57 ล้านบาท รถยนต์ 24 คัน ประเมินราคา 70 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 1 ยูนิต ราคา 1.5 ล้านบาท ปืน 18 กระบอก มูลค่า 720,000 บาท รวมมูลค่าทรัพย์สินราว 131 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้สิน 76.63 ล้านบาท

 

สำหรับดาบโบ้หรือ ดาบตำรวจ วิสุทธิ์ บุญเขียว เพิ่มคดีมียาเสพติดไว้ในครอบครองอีกหนึ่งคดี จากการค้นห้องพักพบ ยาบ้า จำนวน 200 เม็ด กัญชา 1 แท่ง และยาไอซ์ จำนวนหนึ่ง ซึ่งยาไอซ์ที่ค้นพบ มีลักษณะเดียวกับที่ยึดได้จากผู้ตายในคดีนี้

 

  • ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

 

ด้านการสืบสวนดำเนินคดีก็เป็นไปตามขั้นตอน แต่สังคมได้อะไรจากเหตุการณ์นี้ และจะมีการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดกรณีสะเทือนขวัญเช่นนี้ขึ้นอีกอย่างไร

 

แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ระบุว่า หลักฐานชัดที่สุดที่ได้เคยเห็น แต่การตรวจสอบของหน่วยงานก็ยังคงอ้างว่ารอผลการสอบสวน ต้องชมและให้กำลังใจผู้ที่กล้าร้องเรียนแม้จะรู้ว่าเสี่ยงอย่างยิ่ง ตอนแรกที่เป็นข่าวก็ห่วงว่าเดี๋ยวเรื่องคงเงียบ ตำรวจที่ออกมาร้องเรียนคงถูกจัดการ

แต่เมื่อมีคลิปเผยแพร่ไป พร้อมกับรับรองการตายก็เลยแน่ใจว่า คงฝังกลบไม่ได้แน่นอน น่าเสียดายที่ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่คุยว่าดีนักหนา ไม่มีหัวข้อเรื่องการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่ดี ขนาดมีการเขียนเรื่องการปฏิรูปตำรวจในรัฐธรรมนูญยังชักเข้าชักออก สุดท้ายมีแต่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ไม่มีเรื่องการสร้างระบบสอบสวนที่ยุติธรรมและการตรวจสอบที่เป็นธรรม

กม.ป้องกันการซ้อมทรมาน เพื่อไม่ให้เกิดคดีผู้กำกับโจ้ 2 หรือจะล่มพร้อมสภาฯ

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องทำตามข้อกำหนดสากลพิธีสารมินนิโซตา ที่ว่าด้วยเรื่องการสอบสวนการตายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องให้หน่วยงานกลางเป็นผู้ตรวจสอบ ไม่ใช่ปล่อยให้ต้นสังกัดเป็นผู้สอบ ซึ่งก็ควรรวมถึงการสอบสวนการบาดเจ็บของผู้ร่วมชุมนุมและเจ้าหน้าที่ ทั้งสองเหตุการณ์ต้องการคนกลางที่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา น่าเสียดายที่ไม่มีแนวทางการปฏิรูปเรื่องนี้เลย (คลิกอ่านรายละเอียดที่นี่)

 

นอกจากนี้คุณหญิงพรทิพย์ ยังได้โพสต์ถึงการทำงานของตำรวจ ว่า

“ถ้าตำรวจยังคงเห็นว่าวิธีเดิม อุ้ม รีด ซ้อม ยัดเยียด ป้ายสี จนถึงฆ่า แล้วบอกว่าพลั้งมือเป็นสิ่งที่ไม่ผิด เห็นที พ.ร.บ.ตำรวจ ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ และ พ.ร.บ.ห้ามอุ้มหายและซ้อมทรมาน ก็ไม่ช่วยอะไร เพราะเนื้อหาในกฎหมายที่อยู่ในชั้น ส.ส. มีแต่หลักการเตือน แต่ไม่มีวิธีตรวจสอบการซ้อม ตรวจสอบการตาย รวมทั้งไม่มีระบบการตรวจสอบศพนิรนามด้วยหน่วยงานกลาง เห็นทีความยุติธรรมคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง ไม่เชื่อลองไปตามคดีเหล่านี้ดูว่าเอาตัวเจ้าหน้าที่ที่ลงมือมาลงโทษได้แค่ไหน”

จากข้อสรุปที่ชัดเจนของคุณหญิงหมอ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้เกี่ยวข้องจากฝ่ายไหน ออกมาพูดในรายละเอียดลงลึกขนาดนี้ ตั้งแต่ ตำรวจ กระทรวงยุติธรรม ส.ส.ที่จะต้องนำเสนอกฎหมาย บอกเพียงแค่เตรียมเสนอกฎหมายให้สภาฯ พิจารณา ถ้าเพียงเท่านี้ 

กม.ป้องกันการซ้อมทรมาน เพื่อไม่ให้เกิดคดีผู้กำกับโจ้ 2 หรือจะล่มพร้อมสภาฯ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ที่จะเกิดคดีคลุมถุงดำ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติรับทราบ รายงานสรุปผลการพิจารณา ต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการป้องกันการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีลักษณะเป็นการทรมานบุคคล ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

วิษณุ  เครืองาม

โดยนายวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ กระทรวงยุติธรรม(ยธ.) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว

 

โดยให้ ยธ. สรุปผลการพิจารณา หรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม พร้อมกำชับให้ส่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

ต่อมา ยธ. รายงานว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กห. พม. มท. สธ. สคก. ตช. อส. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีผลสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้

 

จากการที่กสม.เสนอแนะให้ครม.พิจารณายกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 23/2558 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดพ.ศ.2519 และคำสั่งคสช.ที่ 13/ 2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการ ที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อย หรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหาร มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในการสืบสวนการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดทางอาญาอื่น เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดกฎหมายอาญาเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ โดยให้เป็นหน้าที่และอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจรวมถึงเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายปกติ

 

ประเด็นนี้ ครม.ได้ชี้แจง กสม.ว่า การออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้ง 2 ฉบับ เป็นไปเพื่อการป้องกัน ระงับ ปราบปรามการบ่อนทำลาย เศรษฐกิจ สังคม ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสุจริตชน ในปัจจุบันการให้อำนาจพิเศษตามคำสั่งดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ ยังคงมีความจำเป็นต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจจากคำสั่งฯ ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่อาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 

กสม. ยังได้เสนอแนะว่า ครม.ควรจัดความสำคัญ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ไว้เป็นลำดับแรก เพื่อให้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปโดยเร็ว โดยนำหลักการและสาระสำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีและอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการบังคับให้หายสาบสูญไปบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาทั้งสองฉบับ

 

โดยเฉพาะ การกำหนดความรับผิดทางอาญา แก่ผู้บังคับบัญชา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการซ้อมทรมาน ไม่ดำเนินการป้องกันหรือระงับการกระทำ ของผู้ใต้บังคับบัญชา หรือปกปิดข้อเท็จจริง ไม่ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย เพื่อสอบสวนดำเนินคดี รวมทั้งกำหนดให้มีกลไกพิเศษ ในการสืบสวนสอบสวนคดีทรมานและคดีที่เกี่ยวกับการกระทำให้บุคคลสูญหาย

 

โดยองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพตลอดจนมีมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดแบบบูรณาการ เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระและเป็นกลาง องค์กรอัยการ หน่วยงานแพทย์ที่เป็นอิสระและมีความเชี่ยวชาญ และภาคประชาชน

 

นอกจากนี้ กสม.เสนอ ครม.ควรมอบหมายให้ ยธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแนวทางในการปฏิบัติงานแบบบูรณาการ ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่าย เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการสืบสวนสอบสวนการกระทำผิด ในกรณีที่มีข้อสงสัยเรื่องการซ้อมทรมานบุคคล กรณีที่มีการตายเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน รวมถึงกรณีที่กล่าวอ้างว่า มีการกระทำให้บุคคลสูญหาย พร้อมทั้งจัดทำโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

 

โดยนำหลักการ ตามคู่มือการสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐาน อย่างมีประสิทธิผล กรณีการกระทำทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี หรือพิธีสารอิสตันบูลมาใช้ ในการจัดทำแนวทางการสืบสวนสอบสวนและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นหลักประกันในการป้องกันและปราบปราม การกระทำทรมานและสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ไม่ให้เกิดกรณีการลอยนวลพ้นผิด

 

ข้อเสนอของกสม.ข้างต้น กระทรวงยุติธรรม(ยธ.) โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ชี้แจงว่า ได้ยกร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวขึ้นตามหลักการของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งมีสาระสำคัญสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ กสม.แล้ว

 

โดย ยธ. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายตามลำดับ ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 25 ม.ค.  64 และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ (อนุวิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร

 

ขณะที่นางสาวศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และ การกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่จะเข้าพิจารณาเมื่อ 1 กันยายน ต้องเลื่อนออกไป  เพราะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

ขณะนี้มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ 4 ฉบับ โดย 1 ในร่างนั้น พรรคประชาธิปัตย์ มองเห็นปัญหาและมุ่งหาแนวทางการแก้ไข ตั้งแต่ก่อนจะมีกรณี "ผู้กำกับโจ้"  ซ้อมทรมานผู้ต้องหาเพื่อกรรโชกทรัพย์  ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งผลักดันร่างกฎหมายนี้ให้เข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อจะออกใช้บังคับโดยเร็วที่สุด

 

ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำ ให้บุคคลสูญหาย เป็นกฎหมายที่จะช่วยป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ตลอดจนปราบปรามผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นเหตุให้กระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบือนจนเกิดปัญหา

 

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกพรรคการเมืองจะสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถเป็นหลักให้กับบ้านเมืองและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

 

ไม้สุดท้ายอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดกรณีคลุมถุงดำ หรืออุ้มหาย ที่มีมานาน ต้องติดตามท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายว่า จะให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แค่ไหน อย่างไร ขณะที่สภาฯก็มีปัญหาบุคคลสูญหายเช่นเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเฟซบุ๊กคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์

logoline