svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เอ้-ชัชชาติ-อัศวิน" คะแนนเบียด คนกรุงเทใจให้ใคร

19 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ซูเปอร์โพล" เผยผลสำรวจความนิยม "ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม." ยกแรก พบคนกรุงเทพฯ ยังไม่ตัดสินใจเลือกใครเป็นพ่อเมืองคนใหม่ คะแนน "ดร.เอ้" นำในแง่เป็นนักบริหารรุ่นใหม่ "ชัชชาติ" ได้เปรียบจากภาพความติดดิน เข้าถึงพื้นที่ ขณะที่ "ผู้ว่าฯอัศวิน" ก็ยังมีลุ้น

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เผยแพร่ผลสำรวจ "โพลเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. รอบ 1 ( ชีวิตที่สัมผัสได้จริง )" กรณีศึกษา 2 กลุ่มประชากรเป้าหมายผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 29,595 ตัวอย่าง และสุ่มตัวอย่างเครือข่ายแกนนำชุมชนคน กทม.จาก 2,016 ชุมชนจำนวน 498 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-18 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

ภาพรวมการสำรวจพบว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 89.5 ต้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.โดยเร็ว ในขณะที่ร้อยละ 10.5 ยังไม่ต้องการ

 

สำหรับผลการสำรวจที่น่าสนใจ ในเรื่องภาพลักษณ์ด้านความเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ เก่ง ทันสมัย นึกถึงใครเป็นอันดับแรกในกลุ่มคนที่มีข่าวว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. จำแนกระหว่างเครือข่ายแกนนำชุมชน กับประชาชน คน กทม. พบว่า ร้อยละ 31.7 ของแกนนำชุมชน กับ ร้อยละ 53.2 ของคน กทม. ยังนึกไม่ออก ยังไม่มีใครในใจ ยังว่างอยู่ ไม่นึกถึงใครเลย 

รองลงมา ในกลุ่มแกนนำชุมชน นึกถึง

  • ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 27.1
  • นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 24.9
  • พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 10.6
  • ส่วนกลุ่มอื่นๆ เช่น นางสาวรสนา โตสิตระกูล และนาย ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ร้อยละ 5.7

 

 

"เอ้-ชัชชาติ-อัศวิน" คะแนนเบียด คนกรุงเทใจให้ใคร

 

ส่วนในกลุ่มตัวอย่างประชาชนคน กทม.

  • ร้อยละ 21.2 นึกถึง ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
  • ร้อยละ 18.7 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
  • ร้อยละ 3.7 นึกถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
  • ส่วนคนอื่นๆ ที่เหลืออยู่ที่ร้อยละ 3.2

 

ในประเด็นภาพลักษณ์ด้านการเข้าถึงชุมชน พบว่า กลุ่มเครือข่ายแกนนำชุมชนร้อยละ 32.5 และประชาชนคน กทม.ทั่วไปร้อยละ 47.2 ยังนึกไม่ออก ยังไม่มีใครในใจ ยังว่างอยู่ ไม่นึกถึงใครเลย

 

แต่ในกลุ่มแกนนำชุมชน ร้อยละ 28.7 ระบุว่าเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ / ร้อยละ 19.7 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ / ร้อยละ 13.3 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง / และร้อยละ 5.8 ระบุถึงคนอื่นๆ

 

 

"เอ้-ชัชชาติ-อัศวิน" คะแนนเบียด คนกรุงเทใจให้ใคร

 

ส่วนกลุ่มประชาชนคน กทม.ทั่วไป ร้อยละ 38.6 นึกถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ / ร้อยละ 10.0 ระบุเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ / ร้อยละ 2.6 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง / และร้อยละ 1.6 นึกถึงคนอื่นๆ

 

เมื่อสอบถามถึง ความตั้งใจจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า ในกลุ่มประชาชน คน กทม. ทั่วไป ร้อยละ 43.8 และแกนนำชุมชนร้อยละ 29.7 ยังไม่มีใครในใจ ยังไม่รู้จะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่เลย ยังไม่ตัดสินใจ ยังไม่แน่นอน

 

ในกลุ่มตัวอย่างประชาชนคน กทม.ทั่วไป คะแนนรองลงมา คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 17.6 เหตุผลเป็นเพราะมีประสบการณ์ ติดดิน ลงพื้นที่ต่อเนื่อง ปฏิบัติงานจริง ไม่สร้างภาพ เข้าถึงชุมชน ประชาชนเข้าถึงได้ เป็นผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรค เชื่อมั่นว่าทำงานกับทุกพรรคการเมืองได้  มีแนวคิดและวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นต้น

 

ขณะที่ ดร.สุชัชวีร์ ได้ร้อยละ 14.2 ด้วยเหตุผลเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดเปลี่ยนกรุงเทพฯ มีฐานสนับสนุนจากพรรคการเมืองจะทำอะไรได้มากกว่าทำเพียงลำพังอิสระ และอยากลองคนใหม่

 

 

"เอ้-ชัชชาติ-อัศวิน" คะแนนเบียด คนกรุงเทใจให้ใคร

 

 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้ร้อยละ 12.6 เพราะเป็นคนจริงจัง มีความกล้าหาญ ทำงานหนัก เป็นอดีตตำรวจ

 

ในขณะที่ร้อยละ 11.8 ระบุถึงคนอื่นๆ 

 

ส่วนในกลุ่มเครือข่ายแกนนำชุมชน ร้อยละ 28.1 บอกว่าตั้งใจจะเลือก ดร.สุชัชวีร์ / ร้อยละ 22.5 ระบุว่าจะเลือก นายชัชชาติ / ร้อยละ 9.2 จะเลือก พล.ต.อ.อัศวิน / และร้อยละ 10.5 จะเลือกคนอื่นๆ

 

 

"เอ้-ชัชชาติ-อัศวิน" คะแนนเบียด คนกรุงเทใจให้ใคร

 

 

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล อธิบายว่า เมื่อจำแนกแบ่งสัดส่วนของประชาชนคน กทม. ที่ถูกศึกษาในโครงการนี้ แยกไปตามเขตต่างๆ ทั้ง 50 เขต พบว่า ประชาชนคน กทม. ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.

 

ตัวเลขส่วนใหญ่อยู่ที่กว่าร้อยละ 40 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด โดยมี นายชัชชาติ กับ ดร.สุชัชวีร์ และ พล.ต.อ.อัศวิน ได้คะแนนในสัดส่วนที่เกาะกลุ่มกันทุกเขต อยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 กว่าๆ ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในหลายพื้นที่

 

ฉะนั้นโพลล์เลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เห็นนัยสำคัญหลายประการ เช่น คนที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจ ยังนึกไม่ออกว่าจะเลือกใคร เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ ยังไม่รู้ว่ามีใครลงสมัครแน่นอนบ้าง

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ต้องการให้มีความชัดเจนและจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

 

นอกจากนี้ สัดส่วนของคนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใคร ยังคงเกาะกลุ่มกัน ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอาจเปลี่ยนใจได้ ส่วนการสังกัดพรรคการเมืองของผู้สมัคร ยังมีนัยสำคัญต่อเสียงของกลุ่มแกนนำชุมชน

logoline