svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คำถามถึงรัฐบาล ผิดหรือ! ที่ม็อบจะนะมาทวงสัญญา

10 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถือเป็นข่าวใหญ่ในบ้านเรา กับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่มาทวงสัญญากับทางรัฐบาล ถึงการชะลอโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

คืนวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านไม่ คงไม่มีใครคาดคิด ว่าการเดินทางมาทวงคำมั่นสัญญาของกลุ่มพี่น้องจะนะรักษ์ถิ่นกับรัฐบาล จะจบลงด้วยการเข้าสลายการชุมชุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน

เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มพี่น้องจะนะรักษ์ถิ่นถูกจับ 37 คน แม้ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไข ตามมาด้วยคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า...

"เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องทำเพราะมีข่าวว่าจะมีคนมามั่วสุมเพิ่มเติม ตรงนี้ต้องช่วยรัฐบาลหน่อย ตามกฎหมายการชุมนุมต้องห่างจากสถานที่ราชการ 150 เมตร แต่เราไปฟังเขา อยู่ในขั้นตอนทำประชาพิจารณ์ อย่ามาทำเนียบฯ เลย เดี๋ยวส่งคนไปดูแล อันไหนทำได้เราก็ทำ เพราะมุ่งหวังให้ภาคใต้เศรษฐกิจเจริญเติบโตมากขึ้น"

คำถามถึงรัฐบาล ผิดหรือ! ที่ม็อบจะนะมาทวงสัญญา

เหตุการณ์การสลายการชุมนุมของม็อบจะนะ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นคำถามตัวโตๆ ถึงรัฐบาล ว่า "ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่" เพราะชาวบ้านที่มาชุมนุม ต่างมามือเปล่า  และมาทวงสัญญาที่คนของรัฐบาลเองมิใช่หรือ ที่ตกปากรับคำกับพี่น้องชาวจะนะ ว่าจะชะลอโครงการออกไปก่อน

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รายการสืบสวนความจริง ทางเนชั่นทีวีได้เคยนำเสนอประเด็น "นิคมอุตสาหกรรมจะนะ สะท้อนมุมมองของชาวบ้าน ว่าเหตุใด "นิคมอุตสาหกรรมจะนะ" จึงไม่เหมาะสมกับพื้นที่ และทำไมพวกเขาถึงต้องคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไว้อย่างชัดเจน 

 

 

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เริ่มต้นจากโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยการเปลี่ยนพื้นที่อำเภอ หนองจิก, เบตง และสุไหงโกลก ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยอนุมัติให้ ศอ.บต. เป็นผู้ดำเนินการ ก่อนเริ่มมีการขยายไปถึงพื้นที่อำเภอจะนะในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 นำไปสู่การอนุมัติในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

คำถามถึงรัฐบาล ผิดหรือ! ที่ม็อบจะนะมาทวงสัญญา

โครงการดังกล่าวใช้พื้นที่ทะเลชายฝั่งทะเลของตำบลนาทับ, ตลิ่งชัน และสะกอม ในอำเภอจะนะกว่า 16,753 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมประกอบด้วย เขอุตสาหกรรมหนักและเบาสำหรับการผลิต, โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่, ท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกของภูมิภาค, เขตอุตสาหกรรมในการกระจายสินค้า ไปจนถึงศูนย์บริการเบ็ดเตล็ด โดยเป็นการลงทุนจากภาคเอกชนที่มีภาครัฐอำนวยความสะดวก จากบริษัทใหญ่สองเจ้าอย่าง TPIPP กับ IRPC

ประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้ง คือ เดิมพื้นที่แถบนี้ตามผังเมืองเดิมเป็นพื้นที่สีเขียว จัดเป็นพื้นที่สำหรับใช้ในการเกษตรและเป็นพื้นที่อนุรักษ์ หากต้องการตั้งนิคมอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเปลี่ยนผังเมืองให้เป็นสีม่วงเสียก่อน แต่นั่นตามมาด้วยเสียงคัดค้านจากผู้คนในชุมชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ

คำถามถึงรัฐบาล ผิดหรือ! ที่ม็อบจะนะมาทวงสัญญา

คนในพื้นที่บางส่วนออกมาเรียกร้องว่าเขตพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กินพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เป็นแหล่งทำกินของพวกเขาไปเกือบหมด สิ่งนี้ทำลายรากฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมในชุมชนรวมถึงอาชีพในการทำมาหากิน สร้างความไม่พอใจให้แก่คนในพื้นที่ว่าเหตุใดถึงรีบเร่งดำเนินการ โดยไม่ยอมรับฟังหรือหาข้อสรุปร่วมกันเสียก่อน

 

บทสรุปของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อ ทั้งท่าที่จากฝั่งรัฐบาล ที่ดูเหมือนว่าจะไม่แยแสกับการชุมนุมเรียกร้องของพี่น้องชาวจะนะ  คำถามที่ทิ้งท้ายคงต้องถามว่า หากชาวบ้านซึ่งเป็นคนในพื้นที่ ไม่ต้องการนิคมอุตสาหกรรม แล้วรัฐบาลจะต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

คำถามถึงรัฐบาล ผิดหรือ! ที่ม็อบจะนะมาทวงสัญญา

 

logoline