svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รู้จัก "เสือดำ" สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ แท้จริงแล้วคือ "เสือดาว" เหตุไฉนสีดำ

09 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผลจากคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีล่าเสือดำ ได้สร้างบรรทัดฐานในคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมา พร้อมกับสร้างความพึงพอใจให้กับสังคมที่ติดตามข่าวนี้ แต่ไม่ว่าโทษจากคำพิพากษาจะหนักเพียงใด ก็คงไม่สามารถเรียกคืนชีวิต "เสือดำ" กลับคืนมาได้ เนชั่นออนไลน์ ชวนทำความรู้จัก "เสือดำ"

9 ธันวาคม 2564 ภายหลังจากที่เมื่อวานนี้ (8 ธันวาคม 2564) ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก "เปรมชัย กรรณสูต" 2 ปี 14 เดือน ในคดีล่าเสือดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก พร้อมพวกอีก 3 คน ซึ่งมีโทษแตกต่างกันไป 

 

วันนี้ "เนชั่นออนไลน์" จะพามาทำความรู้จัก "เสือดำ" หรือ Black Panther เพื่อให้เห็นว่า เสือดำนั้น มีความสำคัญในระบบนิเวศป่ามากแค่ไหน

 

เสือดำ แท้จริงแล้วก็คือ เสือดาว มีลายจุดเหมือนกัน เพียงแต่สีเข้มดำทำให้มองเห็นลายได้ไม่ชัด ซึ่งเป็นความผิดปกติของเม็ดสีเรียกว่า "เมลานิซึม" อันเป็นการผ่าเหล่า (Mutation) ส่งผลให้เสือที่เกิดมานั้นเป็นสีดำตลอดทั้งลำตัว โดยที่ยังมีลายหรือลายจุดคงอยู่ แต่จะสังเกตเห็นได้ยาก จะเห็นได้ชัดเจนเมื่ออยู่ในแสงแดด นับเป็นความงดงามอันมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เพราะนักวิชาการบางท่านได้ประเมินว่า อัตราการเกิดของเสือดำในเสือดาวมีแค่ 5% เท่านั้น 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >> เปิดใจ "ชัยวัฒน์" มือปราบพรานป่า "เปรมชัย"

รู้จัก "เสือดำ" สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ แท้จริงแล้วคือ "เสือดาว" เหตุไฉนสีดำ
 

การกลายพันธุ์หรือผ่าเหล่าเป็นสีดำของเสือดาวนี้ เกิดขึ้นได้ในเสือหลายชนิด มีการค้นพบเสือจากัวร์ดำในทวีปอเมริกาใต้ เสือพูม่าดำในทวีปอเมริกาเหนือ เสือไฟดำในทวีปเอเชีย และ เซอร์วัล - แมวป่าในทวีปแอฟริกาก็พบว่ามีการผ่าเหล่าเป็นสีดำเช่นกัน 

 

อ่านข่าวทีเกี่ยวข้อง >> เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุก "เปรมชัย" คดีเสือดำ

เสือจาร์กัวดำ (ภาพ วิกิพีเดีย)

การมีขนสีดำนั้นมีส่วนช่วยในการพรางตัว และสีดำยังช่วยดูดซับความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ทำให้เสือดำนิยมออกล่าสัตว์ในยามค่ำคืน และชอบพักนอนบนต้นไม้

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่า เสือดาวและเสือดำ เป็นเสือคนละชนิดกัน ซึ่งจริงๆ แล้วพวกมันจัดอยู่ในชนิดเดียวกัน ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เสือดำก็มีลายเช่นเดียวกับเสือดาว โดยลูกเสือที่เกิดใหม่ในครอกเดียวกันอาจมีลูกเสือได้ทั้งสองชนิด

"เสือดำ" พบทางภาคใต้ของประเทศไทยได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่น โดยภาษาพื้นบ้านในภาคใต้บางแห่งเรียกเสือดำว่า "เสือลายตลับ" หรือ "เสือแผ้ว" เสือดำที่พบมีขนาดลำตัวประมาณ 107–129 ซม หางมีความยาวเกือบเท่าลำตัว และหนัก 45–65 กิโลกรัม 

เสือดาวในเอเชียมีความดุร้ายกว่าเสือดาวในทวีปอื่น และเสือดำยิ่งมีความดุกว่าเสือดาวทั่วไป มันชอบอยู่โดดเดี่ยว กินสัตว์ป่าทุกชนิดที่จับได้ เช่น หมู กวาง ลิง นกยูง สุนัข และปูปลา มันสามารถขึ้นล่าเหยื่อบนต้นไม้ หรือลากเหยื่อไปกิน บนต้นไม้เพื่อหลีกหนีจากการแย่งของสัตว์นักล่าชนิดอื่นๆ เพราะเสือดำและเสือดาวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่มีแนวโน้มว่าใกล้สูญพันธุ์ สถานภาพตามกฎหมาย จึงได้รับการปกป้องโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของประเทศไทย พุทธศักราช 2535 

เสือดาวและเสือดำ ในผืนป่าแก่งกระจาน (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)

เสือดำที่ถูกล่าโดยแก๊งค์ของคุณเปรมชัย ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก เป็นเสือดาวอินโดจีน (Indo-chinese leopard) ที่พบเฉพาะในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก เพราะทั้งโลกมีการคาดการณ์ประชากรเสือดาวว่าเหลือแค่เพียงราว 2,000 ตัว ในประเทศไทยมีประชากรเสือดาวอยู่ประมาณ 250 ตัว ดังนั้น เราจึงพอจะคาดเดาได้ว่าเสือดำที่มีแค่ 5% ของเสือดาว จะยิ่งหายากขนาดไหน

คดีล่าเสือดำ ไม่ว่าโทษจากคำพิพากษาจะหนักเพียงใด ก็คงไม่สามารถเรียกคืนชีวิตสัตว์ป่า และความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติได้ แต่อย่างน้อยคำพิพากษาศาลฏีกาในคดีเสือดำต่อนายเปรมชัยและพวกในครั้งนี้ ถือเป็นบทพิสูจน์การทำงานของผู้รักษาป่า รักษากฏหมาย และได้รับรู้พลังของสังคม ที่พร้อมใจกันปกป้องรักษาธรรมชาติเอาไว้เป็นสมบัติของชาติตลอดไป

 

รู้จัก "เสือดำ" สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ แท้จริงแล้วคือ "เสือดาว" เหตุไฉนสีดำ

ขอบคุณข้อมูล

 

logoline