svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี"สับ"บิ๊กตู่"สร้างความเหลื่อมล้ำด้านคมนาคมให้ปชช.

06 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทวี สอดส่อง" โพสต์เฟซอัดนายกฯ สร้างความเหลื่อมล้ำแม้กระทั่งการคมนาคม ซัดสะท้อนชัดแนวคิด แซะให้ค่าสามจังหวัดชายแดนใต้รั้งท้าย เปรียบดั่งพลเมืองชั้นสอง

6 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหา ดังนี้  

 

คำพูด พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี…กับ "ความเหลื่อมล้ำด้านคมนาคมของประชาชน"

 

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พูดระหว่างมอบสิทธิโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ระบุถึงค่าทางด่วนว่า "ให้ผู้มีรายได้ขึ้นทางด่วน ส่วนผู้มีรายได้น้อยใช้ถนนด้านล่าง"

 

"ทวี"สับ"บิ๊กตู่"สร้างความเหลื่อมล้ำด้านคมนาคมให้ปชช.

 

คำพูดดังกล่าวเกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะมาอธิบายในวันที่ 5 ธ.ค.64 "เรียกว่าการเข้าถึงโอกาส" ซึ่งนายกฯ ตอบคำถามสื่อว่า "คุณตีความอย่างนั้นได้อย่างไร เส้นทางถนนเส้นทางข้างล่างอย่างเดียว การจราจรติดขัดหรือไม่ ก็มีการแยก เขาเรียกว่าการเข้าถึงโอกาส คุณก็หาเรื่องทุกครั้ง ผมขี้เกียจพูด" ก็ตาม

 

แต่ในความเป็นจริงการพูดในที่สาธารณะของผู้เป็นนายกรัฐมนตรี "คำพูดเกิดจากความคิด" ที่มนุษย์จะเป็นเชลยของความคิด ซึ่ง "ความคิดนำไปสู่คำพูด คำพูดนำไปสู่การกระทำ การกระทำเมื่อทำซ้ำๆ จะนำไปสู่นิสัย นิสัยก็จะเป็นบุคลิกภาพ จนกลายเป็นเป็นพฤติกรรมและชะตากรรมของชีวิต"

 

นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ได้พูดเป็นทางราชการจึงต้องเตรียมเนื้อหาที่จะพูดเป็นอย่างดี จากคำพูดดังกล่าวอาจจะถือว่าเป็นชะตากรรมคนไทยทั้งประเทศว่าจะอยู่อย่างแบ่งแยกฐานะในการเดินทาง จึงเป็นเรื่องน่าห่วง ความเท่าเทียม ความเสมอหน้า ขัดหลักการประชาธิปไตยที่ยึดความเสมอภาค 1 สิทธิ 1 เสียง 1 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ พลเมืองต้องมีสิทธิ์เสมอกัน


 

ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมนั้นหน้าที่รัฐที่ดี คือ จัดรัฐสวัสดิการที่ดี เท่าเทียม ทั่วถึง ประชาชนพึงพอใจ ในงบประมาณที่เหมาะสม ระบบขนส่งมวลชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นหลักมาตรฐานสิทธิมนุษยชน รัฐจะต้องจัดระบบให้คนรวย-คนจน สามารถเดินทางในเวลาใกล้เคียงกัน มิเช่นนั้นถ้าคนรวยที่มีรถ 10 คัน จะไปไหนเขาก็ไปได้ แต่คนไม่มีรถเขาจะไปไหน เขาต้องรอรถโดยสารประจำทางที่อาจไม่แน่นอน ที่ผ่านมาประเทศไทยพัฒนาระบบคมนาคมมุ่งสร้างถนนให้รถวิ่งยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ถึงเวลาต้องเปลี่ยนเป็นขนคนไม่ใช่ขนรถ ด้วยระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม ราคาประหยัด ที่เป็นรัฐสวัสดิการ ทำอย่างไรให้คนอยากจะไปที่ไหนก็ไปได้ในเวลาใกล้เคียงกัน

 

สภาพความจริงในสังคมไทยปัจจุบันพบว่า ความเหลื่อมล้ำด้านขนส่งมวลชนที่ระบบการขนส่งทางรางกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพปริมณฑล อาทิ

 

-รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิทเส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช ที่สร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเชื่อมต่อ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ,
 

-รถไฟฟ้าสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี
 

-รถไฟฟ้าสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี
 

-รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง
 

-รถไฟ สายสีแดง ชานเมือง รังสิต-ช่วงบางซื่อ -ตลิ่งชัน และ
 

-รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน ได้แก่สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ที่ผ่านพื้นที่ กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ฯลฯ

 

ส่วนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั้งภาคกลางอื่นๆ ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ ถือว่ามีความเหลื่อมล้ำระบบขนส่งทางราง แม้รัฐบาลกำลังการพัฒนาระบบรางรถไฟเดิมที่เป็นรางเดี่ยวเป็นรางคู่ แต่เป็นเส้นทางเดิม และที่มีแผนงานทำรถไฟความเร็วสูงถือว่าล่าช้ามาก ยิ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ที่ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งการเดินทางโดย "รถไฟ" เป็นอย่างมาก ไม่พบว่าแผนการสร้างรถไฟทางสายใหม่ และไม่มีรถไฟความเร็วสูงผ่านใกล้เหมือนในภาคอื่นๆ เลย การพัฒนาเป็นรถไฟทางคู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกจัดไว้ในแผนระยะหลังท้ายสุด คือช่วงปี พ.ศ.2570-2579 ทั้งที่รัฐบาลนี้จะมีอายุมากที่สุดถึงปี พ.ศ.2566 เท่านั้น

 

รัฐบาลทราบดีว่าประชากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความยากจนมากที่สุดของประเทศ ยังขาดความเห็นใจและเลือกปฏิบัติเสมือนคนสามจังหวัดเป็นประชาชนชั้นสอง

 

ความเหลื่อมล้ำระบบคมนาคมและรถไฟของรัฐบาลนี้ สอดรับกับคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ "ให้คนรวยขึ้นทางด่วน ให้คนจนใช้เส้นทางปกติ เพื่อเป็นการคลี่คลายสถานการณ์รถติด" ทำให้ประชาชนอาจถูกแบ่งแยกการเดินทาง และการพัฒนามีการกระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพปริมณฑลและชุมชนเมืองบางแห่ง จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงชะตากรรมด้านการเดินทางของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

logoline