svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี"ห่วงนายกฯแสดงท่าทีหนุนไล่แอมเนสตี้หวั่นกระทบไทยบนเวทีนานาชาติ

29 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทวี สอดส่อง" กังวลสิทธิมนุษยชนในประเทศ หลัง "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" แสดงท่าทีให้ท้ายไล่แอมเนสตี้พ้นไทย หวั่นกระทบบนเวทีนานาชาติ

29 พฤศจิกายน 2564 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีมีการขับไล่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล ให้พ้นประเทศไทย โดยมีใจความ ดังนี้

 

ท่าทีนายกรัฐมนตรีที่เห็นดีเห็นงามกับการคุกคาม "แอมเนสตี้" ที่เป็นองค์กรปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยและทั่วโลก ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เป็นเรื่องที่น่าห่วงและกังวลเป็นอย่างยิ่ง

 

สิ่งที่น่ากังวลและเป็นห่วงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ กรณีที่สื่อสารมวลชนเผยแพร่ข่าวว่า นายกรัฐมนตรี เผยกำลังตรวจสอบเบื้องหลัง "แอมเนสตี้" มองให้ร้ายประเทศไทย

 

แสดงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลไทยออกมาให้ท้ายและดีเห็นงาม จนส่งผลถึงการคุกคามและการไล่ล่าองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อย่าง "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย" (Amnesty International Thailand) ที่มีออฟฟิศในประเทศไทย โดยอ้างว่าเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ทั้งๆ ที่แอมเนสตี้ทำงานส่งสริมความรู้ความเข้าใจ และการรณรงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 

"ทวี"ห่วงนายกฯแสดงท่าทีหนุนไล่แอมเนสตี้หวั่นกระทบไทยบนเวทีนานาชาติ

ทั้งที่ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ลำดับที่ 55 และยังเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรก ที่เข้าร่วมรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อมาได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาหลัก ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 ฉบับ จากทั้งหมด 9 ฉบับ ถือเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของทุกคน

 

แอมเนสตี้ เป็นองค์กรที่เคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อ พ.ศ. 2520 จากการรณรงค์ต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และรางวัลสหประชาชาติในสาขาสิทธิมนุษยชนในปี พ.ศ. 2521 เพื่อเป็นเกียรติและยกย่องบุคคลและองค์กรที่ได้ทำผลงานโดดเด่นในการส่งเสริมและคุ้มครองของสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในเครื่องมือสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ของสหประชาชาติ

 

ท่าทีของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและกังวลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่จะตกต่ำไม่เพียงภายในประเทศไทยและในเวทีนานาชาติด้วย

ส่วนตัวได้มีโอกาสรับเชิญแสดงความคิดเห็นตามคำเชิญของ แอมเนสตี้ ประเทศไทย หลายครั้ง ล่าสุดได้ร่วมจัด เสวนาทาง Clubhouse วันที่ 13 ก.ย. 64 หัวข้อ "จับตา 15 กันยานี้! พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย กฎหมายต้องมี!" ในวันดังกล่าว ผมได้ร่วมแสดงทัศนะไว้ ดังนี้ Politica[TV24] - "ทวี สอดส่อง" : จับตา 15 กันยานี้! พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย กฎหมายต้องมี! https://www.politica.style/2021/11/15.html (สรุปเและเรียบเรียงโดย รสา เต่าแก้ว/ณฐพร ส่งสวัสดิ์)

 

ในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมาตรฐานมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความหมายกว้างขวางกว่า "สิทธิ" ตามกฎหมายรับรอง ซึ่งมีสิทธิบางประการถือเป็นสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่เกิด ไม่สามารถโอนให้ผู้อื่น และไม่มีใครสามารถพรากไปจากมนุษย์แต่ละคนได้ เช่น การบังคับสูญหาย หรือกรณีที่ผู้ยากไร้ไม่ได้รับอาหาร ที่เพียงพอกับการยังชีพ แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดของใคร แต่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

logoline