svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"หมอเฉลิมชัย" เผย สายพันธุ์โอไมครอน อาจรุนแรงน้อยกว่าที่คิด

30 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน อาจมีความรุนแรงน้อยกว่าที่คาด ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตเลย ส่วนการแพร่ระบาดรวดเร็วกว้างขวาง และการดื้อต่อวัคซีนยังไม่ทราบชัดเจน

30 พฤศจิกายน 2564 จากสถานการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เมื่อองค์การอนามัยโลกได้ประกาศการค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และได้จัดให้อยู่ในกลุ่มระดับ 1  ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญสูงสุดในระดับที่เรียกว่า กลุ่มน่ากังวล (VOC) เหตุเกิดจากนักวิทยาศาสตร์ที่ถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสโอไมครอน ได้พบการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสารพันธุกรรมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาคือมากกว่า 50 ตำแหน่ง และประการสำคัญคือมีมากถึง 32 ตำแหน่งที่ใช้ควบคุมการสร้างหนาม (Spike)

 

โดยตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงไปของการสร้างหนาม มีมากกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึง 3.5 เท่า ส่วนหนามของไวรัสก่อโรคโควิด เป็นส่วนสำคัญที่สุด เพราะใช้ในการเกาะเซลล์ของมนุษย์ และเข้าสู่เซลล์เพื่อทำให้เกิดโรค นอกจากนั้น วัคซีนส่วนใหญ่ที่ได้มีการพัฒนา มักจะเน้นการต่อต้านเฉพาะส่วนหนามของไวรัสเท่านั้น เพราะเชื่อว่าเมื่อป้องกันไม่ให้หนามเกาะเซลล์ได้ ก็จะสามารถป้องกันโรคได้ (มีเพียงเทคโนโลยีเดียวที่วัคซีนเน้นการป้องกันทุกส่วนของไวรัสคือ วัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย)

 

ดังนั้น เมื่อไวรัสโอไมครอนมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหนามมากมายดังกล่าวแล้ว จึงทำให้มีการคาดคะเนทางวิชาการว่า ย่อมจะส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย และส่งผลต่อการดื้อวัคซีนได้ด้วย 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >> เปิดภาพเทียบชัดๆ "สายพันธุ์โอไมครอน" กับ "สายพันธุ์เดลตา"

"หมอเฉลิมชัย" เผย สายพันธุ์โอไมครอน อาจรุนแรงน้อยกว่าที่คิด

การประเมินไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมา จะใช้หลักเกณฑ์ 4 ประการ เพื่อประเมินว่าการกลายพันธุ์นั้น จะมีความสำคัญกับมนุษย์มากน้อยเพียงใด ได้แก่

  • 1) ความสามารถในการแพร่ระบาดของโรค ต้องถือว่าไวรัสโอไมครอนมีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วและกว้างขวางมาก เพราะในเวลาเพียง 5 วัน หลังอง์การอนามัยโลกประกาศ มีการแพร่ไปแล้วใน 19 ประเทศ กว่า 5 ทวีป
  • 2) ความสามารถในการก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง จากรายงานของประธานแพทยสมาคมของแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยจำนวนมากพบว่า ผู้ติดเชื้อจากไวรัสโอไมครอน มีอาการรุนแรงในระดับใกล้เคียงกับไวรัสเดิมคือ มีอาการไข้สูง ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้ออย่างมาก รวมทั้งมีอาการอ่อนเพลียด้วย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต และมีลักษณะเด่นคือ ไม่มีปัญหาเรื่องการได้กลิ่นกับการรับรส จึงพอสรุปได้ว่า ไวรัสโอไมครอนทำให้เกิดโรคที่มีอาการรุนแรงปานกลาง
  • 3) การดื้อต่อวัคซีน ยังไม่มีรายงานชัดเจนว่าไวรัสโอไมครอนดื้อต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด เพียงแต่พอจะประเมินได้ว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนหนาม ย่อมทำให้วัคซีนซึ่งผลิตขึ้นมาต่อสู้กับส่วนหนาม ย่อมมีประสิทธิผลลดลงหรือมีการดื้อต่อวัคซีน 
  • 4) ผลกระทบต่อการตรวจวินิจฉัยโรค เนื่องจากชุดทดสอบแบบเอทีเคเป็นการทดสอบเบื้องต้น จึงมีความแม่นยำไม่มากอยู่แล้ว ส่วนการทดสอบด้วยวิธีมาตรฐาน PCR เป็นการตรวจหาตำแหน่งยีนสามตำแหน่ง โดยที่ถ้าเป็นไวรัสโอไมครอน จะมีตำแหน่งยีนหายไปหนึ่งตำแหน่ง การตรวจ PCR ตามปกติ จึงอาจได้รับผลกระทบในการวินิจฉัยคือ มีผลลบลวงได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความรู้ดังกล่าว การตรวจ PCR แล้วพบว่ามียีนหายไปหนึ่งตำแหน่ง ก็จะสงสัยว่าเป็นโอไมครอน สามารถส่งตรวจหาจีโนมต่อไปได้ทันที

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >> ศูนย์จีโนมฯ ห่วงชุดตรวจบางยี่ห้อ ตรวจจับสายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้

"หมอเฉลิมชัย" เผย สายพันธุ์โอไมครอน อาจรุนแรงน้อยกว่าที่คิด  

ผู้นำของประเทศแอฟริกาใต้ ได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจว่า ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์เรา ทำให้การควบคุมการระบาดของโรคหรือการป้องกันไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์เกิดขึ้นใหม่นั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไวรัสจะกลายพันธุ์เสมอในเขตพื้นที่หรือประเทศที่มีการติดเชื้อสูง

 

ดังนั้น เมื่อประเทศพัฒนาแล้วฉีดวัคซีนได้ครบสองหรือสามเข็ม ก็ไม่สามารถจะปลอดภัยจากโรคระบาดได้ เพราะเมื่อมีไวรัสกลายพันธุ์เกิดขึ้นในประเทศที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ ไวรัสเหล่านั้นก็จะแพร่ระบาดมาสู่ประเทศที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว และถ้าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นดื้อต่อวัคซีน ก็จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศพัฒนาแล้วที่ฉีดวัคซีนครบได้

 

ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 จึงเป็นบทเรียนสำคัญเรื่องการเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเสมอภาค อย่างน้อยก็ในมิติของวัคซีน ในมิติของเรื่องโรคระบาด ว่าจะต้องกระจายการฉีดวัคซีนที่ใกล้เคียงกันในทุกประเทศพร้อมกันในเวลาใกล้เคียงกัน จึงจะสามารถยุติโรคระบาดนี้ได้ 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >> "หมอยง" อธิบายชัด ทำไมไวรัสสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ถึงชื่อ "โอไมครอน"

"หมอเฉลิมชัย" เผย สายพันธุ์โอไมครอน อาจรุนแรงน้อยกว่าที่คิด

 

 

logoline