svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ชวน" แนะเพิ่มหลักความไม่เกรงใจ ในการบริหารกิจการบ้านเมือง

13 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ชวน” ยกหลักธรรมาภิบาล เน้นย้ำนักศึกษาผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย แนะเพิ่ม “หลักความไม่เกรงใจ” หลังข้าราชการประจำต้องติดคุกแทนฝ่ายการเมือง

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิบรรยายในหัวข้อ “ธรรมาภิบาล : หัวใจการบริหารในแบบประชาธิปไตย” ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 11 ของสถาบันพระปกเกล้า โดยนายชวน ได้กล่าวถึงความหมายของธรรมาภิบาล ว่าเป็นการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี เป็นแนวทางสำคัญในการจัดระเบียบให้สังคมรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนซึ่งครอบคลุมถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลัง ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศ เพื่อบรรเทาป้องกันหรือ แก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤตภยันตรายที่อาจจะมีมาในอนาคตเพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใสและความมีส่วนร่วม อันเป็นคุณลักษณะสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกยุคปัจจุบัน 

"ชวน" แนะเพิ่มหลักความไม่เกรงใจ ในการบริหารกิจการบ้านเมือง

โดยหลักธรรมาภิบาลประกอบไปด้วย 6 หลักการ ได้แก่

1. หลักนิติธรรม คือ การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการไม่เลือกปฏิบัติการไม่ทำตามอำเภอใจ การไม่ละเมิดกฎหมาย และการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

2. หลักคุณธรรม คือ การยึดมั่น ถือมั่นในคุณธรรมความดีงาม

3. หลักความโปร่งใส คือ ความถูกต้อง ชัดเจน ปฏิบัติตามหลักการที่ควรจะเป็น

4. หลักการมีส่วนร่วม คือ การให้โอกาสบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ รวมทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อรับคำแนะนำมาร่วมวางแผนและปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ในระดับสังคม

5. หลักความรับผิดชอบ คือ ความรับผิดชอบในงานของตน ความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน รวมถึงการตระหนักและสำนึกในสิทธิและหน้าที่ โดยในหลักความรับผิดชอบนี้นายชวนกล่าวถึงพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 62 และพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 53 ซึ่งพระองค์ได้ทรงเน้นย้ำในเรื่องของความรับผิดชอบและให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ถึง 2 ปี ติดต่อกันเนื่องจากช่วงดังกล่าวมีเหตุการณ์บ้านเมืองที่เจ้าหน้าที่รัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ 

6. หลักความคุ้มค่า คือ การบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระดับบุคคล ความคุ้มค่าเทียบเคียงได้กับความประหยัด และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า คือ การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือเกิดมูลค่ามากที่สุด 

"ชวน" แนะเพิ่มหลักความไม่เกรงใจ ในการบริหารกิจการบ้านเมือง

นายชวน ยังกล่าวต่อว่า นอกจากหลักธรรมาภิบาลทั้ง 6 ข้อแล้ว สำหรับสังคมไทยนั้นจะต้องเพิ่มอีก 1 ข้อ คือ หลักความไม่เกรงใจต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งความเกรงใจนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายแต่ต้องเกรงใจให้ถูกเรื่อง พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างคดีทุจริตที่เกิดขึ้นจากการไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล และเกิดจากการเกรงใจฝ่ายการเมืองของข้าราชการประจำทำให้ต้องติดคุกเสียประวัติและอนาคต

“ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง โดยการใช้หลักธรรมาภิบาลทำให้องค์กรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานได้ อีกทั้งยังเป็นกลไกในการควบคุมติดตามและตรวจสอบ โดยมีประชาชนหรือองค์กรภายนอกมีส่วนร่วม” นายชวน กล่าว

logoline