svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชนวนเหตุแฮกเว็บศาลรธน. กูรูไซเบอร์ ชี้ถึงเวลาลงทุน Cyber Security

13 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กูรูด้านไซเบอร์ ชี้ถึงเวลาราชการไทยต้องลงทุน Cyber Security พร้อมพัฒนาเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ หลังระบบราชการถูกโจมตีต่อเนื่อง ถึงขั้นแฮกเว็บศาลรัฐธรรมนูญ

การโจมตีระบบเว็บไซด์ต่างๆของราชการ กระทั่งมาถึงเเฮกเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ปล่อยเพลงฮิปฮอป พร้อมเปลี่ยนชื่อเว็บเป็น “Kangaroo court” ล่าสุดมีการระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จากการตรวจสอบพบว่า ยังไม่มีข้อมูลที่ได้รับความเสียหาย เป็นเพียงการดิสเครดิต

 

นอกจากนี้ยังพบว่าศาลรัฐธรรมนูญ จ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้ามาดูแล คาดว่าบริษัทนี้อาจไม่มีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ แฮกเกอร์จึงยึดเว็บไซต์ สันนิษฐานว่า ข้อมูลชื่อผู้ใช้ (ยูสเซอร์เนม) และรหัสผ่าน อาจหลุดจากแอดมิน หรือแฮกเกอร์ภายนอกอาจลองเจาะระบบ ซึ่งอยู่ในระหว่างการสืบสวน

 

“รู้อยู่แล้วว่ากลุ่มไหนที่พยายามแฮกเข้ามา เป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้าก่อนวันที่ 10 พ.ย. ที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย” นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าว

 

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

ดร.ปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนเรื่องการเฝ้าระวัง การดูแลที่ไม่ถึงจุดที่ได้มาตรฐาน อาจเกิดจากหน่วยงานรัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอ หรือมีงบประมาณแต่นำไปทำอย่างอื่น

 

รวมถึงบุคคลากรไม่เพียงพอ ไม่มีความรู้ ความสามารถ ในระดับที่จะเป็นนักซีเคียวริตี้ในระดับที่จะมาเฝ้าระวังระบบราชการ ไม่สามารถพัฒนาคนให้ทันต่อดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น โลกที่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเปลี่ยนไป

 

ดร.ปริญญา หอมเอนก

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) มีนโยบายพัฒนาบุคลากร โดยเปิดอบรมหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระดับพื้นฐาน โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

เริ่มสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา กำหนดฝึกอบรมหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับพื้นฐาน ระหว่างวันนี้ 15 พฤศจิกายน – 24 ธันวาคม 2564 (รุ่นที่1-รุ่นที่ 8 ) ในรูปแบบการอบรมออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Online Training)

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นซอฟทาร์เกต แฮกเกอร์สแกนมาเจอช่องโหว่ก็เลยแฮก และมีแฮกเกอร์บางประเภทที่เรียกค่าไถ่ ไม่มีเรื่องการเมืองประเภทนี้จะเยอะมาก แต่ที่เว็บศาลฯ ถูกแฮกคือการเมืองปนมาด้วย ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งแฮกเกอร์ไทยและแฮกเกอร์ต่างชาติ ถึงเวลาที่ต้องเอามาเป็นบทเรียน ถึงถูกแฮกจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถูกแฮกบ่อยๆ ก็สะท้อนภาพลักษณ์ในภาพรวมของประเทศ”   

 

ชนวนเหตุแฮกเว็บศาลรธน. กูรูไซเบอร์ ชี้ถึงเวลาลงทุน Cyber Security

ดร.ปริญญา พยากรณ์ว่าต่อไปอีก 3-5 ปี หากไม่มีการยกระดับและมีแผนที่ชัดเจนด้านความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ระบบราชการจะถูกแฮกถี่ขึ้น ที่สำคัญจำเป็นต้องร่วมมือกับภาคเอกชนให้มาช่วยเฝ้าระวังต้องมีหน่วย “อรินทราชไซเบอร์” รวมทั้งมุมมองของผู้บริหารองค์กรต้องให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอรภาพรวมสถานการณ์ก็จะดีขึ้น

 

“เว็บถูกแฮกได้แต่ไม่ควรให้เกิดบ่อยครั้ง ผู้บริหารอาจจะบอกว่าแฮกไป ไม่เป็นไร แก้ไขก็กลับมาใหม่ ถ้าคิดแบบนี้ก็จะมีแฮกเรื่อยๆ ทำให้เสียชื่อเสียง เราต้องจัดการ ต้องทุ่มเทงบ กำลังคน เจียดเงินมาลงตรงนี้ จะอยู่แบบนี้ไม่ได้ ต้องจัดการเป็นรูปธรรม”

 

ชนวนเหตุแฮกเว็บศาลรธน. กูรูไซเบอร์ ชี้ถึงเวลาลงทุน Cyber Security

 

ดร.ปริญญา  กล่าวถึง มาตรฐานไทย ด้าน Cyber Security ว่า หลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ คนที่ดูแลระบบหรือแอดมินมีความรู้มากขึ้น ผู้บริหารระดับสูงให้ความสนใจศึกษาเรียนรู้เรื่องระบบความปลอดภัยด้านไอทีมากขึ้น หมายความว่าเกิดการตื่นรู้ รู้ว่ามีภัยมา แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไร

 

“ถ้าคะแนนเต็ม 5 ผมให้ 2.5 ลำดับที่ดีต้องได้ 3-4 คะแนน จึงจะได้มาตรฐานที่ดี ตอนนี้ก็ถือว่าใช้โอกาสโดนแฮกบ่อยๆ เริ่มทำแผน ยกระดับการป้องกันระบบไซเบอร์ให้ดีขึ้น”  

 

ประเด็นแฮกเกอร์โจมตีข้อมูลเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น แฮกข้อมูลคนไข้โรงพยาบาล ประชาชนถูกดูดเงินจากบัญชี และยังมีที่ไม่เป็นข่าวอีกก็มาก

 

ชนวนเหตุแฮกเว็บศาลรธน. กูรูไซเบอร์ ชี้ถึงเวลาลงทุน Cyber Security

หากไม่ลงทุนกับ Cyber Security จะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล เพราะแนวโน้มความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2022-2024 ที่คาดว่าจะมีถึง 10 แนวโน้ม แต่ที่จะมีผลระยะ 3 ปีนับจากนี้ เบื้องต้นมี 3 เรื่อง 

  • 1.Digital Inequality and Cyber Vaccination ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและความจำเป็นเร่งด่วนในการฉีดวัคซีนไซเบอร์ให้กับประชาชน
  • 2.Supply Chain Cyber Attacks and CMMC (Cybersecurity Maturity Model Certification) การโจมตีทางไซเบอร์ในระบบห่วงโซ่อุปทานและการรับรองมาตรฐานระดับวุฒิภาวะทางไซเบอร์
  • 3.Remote working Challenge and Zero Trust Architecture ความท้าทายจากพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปและสถาปัตยกรรมความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสมกับโลกยุค Post-COVID

 

ทั้ง 3 ประเด็นแนวโน้มได้เริ่มปรากฏขึ้นบ้างแล้ว และจะค่อยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอีก 7 แนวโน้ม จะเปิดเผยภายในงาน CDIC 2021 ในงานสัมมนาประจำปี CDIC 2021 ภายใต้แนวคิด “Entrusting Digital Provenance, Digital Identity and Privacy Tech” จัดโดยเอซิสฯ ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายนนี้ ในรูปแบบออนไลน์

 

ชนวนเหตุแฮกเว็บศาลรธน. กูรูไซเบอร์ ชี้ถึงเวลาลงทุน Cyber Security

ขอบคุณข้อมูล : ฐานเศรษฐกิจ
 

logoline