svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ตุลาการแจงศาลวาง 3 หลัก"ใช้เสรีภาพไม่เข้าข่ายล้มล้างฯ"

12 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระแสวิจารณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าพฤติการณ์ของแกนนำม็อบ 3 นิ้วเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เหมือนกับปิดปาก ซ้ำยังมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนนั้น

จากประเด็นที่เกริ่นมา ทำให้หนึ่งในตุลาการออกมาแจกแจงว่า คำวินิจฉัยของศาลยังคงคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และเสรีภาพทางวิชาการอย่างครบถ้วน 

 

โดยหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บอกกับ "เนชั่นทีวี" ว่า คำวินิจฉัยของศาล วางหลักเอาไว้ 3 ประการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพอย่างไรได้บ้าง ที่ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

 

1. การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ สามารถพูดได้ แต่ต้องไม่ก้าวร้าว หยาบคาย อาฆาตมาดร้าย หรือใส่ความด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ และที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ ฉะนั้นจึงยังรับรองเสรีภาพในการพูด การแสดงออก และเสรีภาพในทางวิชาการ ยกตัวอย่างอาจารย์มหาวิทยาลัย ยังคงสอนนักศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ หรือแม้แต่ อาจารย์ ​ส.ศิวรักษ์ ก็ยังพูด แสดงทัศนะ วิพากษ์วิจารณ์สถาบันได้ ไม่มีความผิด เพราะแสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการ ไม่หยาบคาย อาฆาตมาดร้าย หรือใช้ข้อมูลเท็จ  

2.หลักความต่อเนื่อง หมายถึงถ้าจงใจพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางเสียหาย ให้ร้ายอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุด ทำเป็นเครือข่ายองค์กร มีการสนับสนุน แบ่งงานกันทำ หรือมีผลประโยชน์ ก็จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

 

3.การใช้สิทธิและเสรีภาพ ต้องยึดหลัก "ภราดรภาพ" คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะสามสิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน คือ สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ การพูดหรือแสดงความคิดเห็นต้องไม่ทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน และระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่มุ่งแต่จะใช้สิทธิ เสรีภาพ โดยไม่สนใจว่าจะกระทบบุคคลอื่นหรือไม่ 

 

ฉะนั้นช่องทางการเสนอปฏิรูปสถาบัน สามารถทำได้โดยผ่านกลไกของรัฐสภา ผ่านผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เหมือนการบูรณะสมบัติของชาติ สามารถทำได้ ชาติอื่นก็ทำ แต่ต้องทำอย่างมีอารยะ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญ ทำโดยกลไกที่ถูกต้องและอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่ให้กระทบหรือสร้างความขัดแย้ง หรือกระทบภราดรภาพ และบูรณภาพแห่งดินแดน

 

สำหรับการพิจารณาคำร้องเรื่องล้มล้างการปกครองฯนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ไม่มีใครสั่ง กดดัน หรือแทรกแซงใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญการลงมติเพื่อวินิจฉัย กระทำในที่ประชุมตุลาการ 9 คน ประธานนั่งหัวโต๊ะ ประธานถามมติทีละคน พร้อมให้อธิบายเหตุผล

 

โดยเมื่อถามมติจากตุลาการจนครบทุกคน ตุลาการต้องส่งคำวินิจฉัยส่วนตนทันที เพื่อยืนยันว่าลงมติแบบนั้นจริงๆ ไม่ใช่ลงมติตามใคร จากนั้นที่ประชุมจะเลือกคำวินิจฉัยเสียงข้างมากที่ดีที่สุด มาปรับเป็นคำวินิจฉัยกลาง และออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ก่อนเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตนต่อไป ทุกอย่างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน

logoline