svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

การบินไทยลุ้นได้เงินกู้ 2.5 หมื่นล้านทัน ม.ค.

02 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การบินไทยเร่งเจรจาเจ้าหนี้เดิมใส่เงินเพิ่ม 2.5 หมื่นล้าน เริ่มเบิกใช้ได้ทันม.ค. มั่นใจจ่ายหนี้คืนได้ครบหลังปรับโครงสร้างลดค่าใช้จ่าย 4.48 หมื่นล้านบาท คาดปี 66 กลับมามีกำไร ส่วนเงินกู้รัฐคาดชัดเจนกลางปีหน้า ยันแม้รัฐใส่เงิน 2.5 หมื่นล้าน

การบินไทยลุ้นได้เงินกู้ 2.5 หมื่นล้านทัน ม.ค.

ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ. การบินไทย ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ระบุ เงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท ที่จะมาช่วยสภาพคล่องให้กับบริษัทฯตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยในส่วนเงินกู้ที่มาจากภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นจากการหารือร่วมกับคณะกรรมการเจ้าหนี้การบินไทย เห็นตรงกันที่จะเดินหน้าในส่วนของเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ที่มาจากภาคเอกชนทั้งเจ้าหนี้เดิมที่จะใส่เงินกู้เข้ามารวมถึงเงินกู้จากแหล่งใหม่ คาดว่าจะเงินกู้ก้อนนี้เข้ามาช่วยเรื่องสภาพคล่องหรือการบินไทยสามารถเบิกเงินใหม่ได้ทันม.ค. 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเงินกู้ในส่วนของภาคเอกชนจะทำให้สถานะการเงินของการบินไทยดีขึ้น แต่งบดุลอาจจะยังดูไม่ดี ซึ่งหากได้เงินกู้ภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาท ก็จะดีมาก

การบินไทยลุ้นได้เงินกู้ 2.5 หมื่นล้านทัน ม.ค.

นอกจาก การปรับโครงสร้างหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มั่นใจว่าจะทำให้เจ้าหนี้เดิมใส่เงินเข้ามา มองว่าทรัพย์สินการบินไทยยังมีมาก อีกทั้งแรงจูงใจที่จะทำให้การบินไทยได้เงินกู้จากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ คือ ผู้ที่ใส่เงินลงมาจะได้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคา 2.54 บาท จากราคาพาร์ 10 บาท อีกด้วย อย่างไรก็ตามสภาพคล่องของการบินไทยในปัจจุบันยังเหลือเงินสด 6,500 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1,000-2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน 660 ล้านบาท และค่าชดเชยพนักงานอีก 1,300 ล้านบาท ที่คาดว่าจะจะจบภายในเดือนก.ค. 2565 ซึ่งเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ที่จะได้มาช่วยในเรื่องรายจ่ายประจำเดือนแล้ว จะนำไปจ่ายหนี้ค่าบัตรโดยสารต่างประเทศที่ค้างจ่ายอีก 1.2 หมื่นล้านบาท และประเมินว่าการบินไทยจะมีกำไรหลังบินปกติในปี 2566 ส่วนปี 2565 ยังขาดทุนอยู่ 

การบินไทยลุ้นได้เงินกู้ 2.5 หมื่นล้านทัน ม.ค.

 

สำหรับแผนการฟื้นฟูกิจการที่ได้ทำมา 1 ปี  มีทั้งหมด 400 โครงการ ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นมูลค่า 4.48 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตที่ใกล้เคียงกับปี 2562 โดยค่าใช้จ่ายที่ลดจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 77% แบ่งเป็น ด้านบุคลากร 1.6 หมื่นล้านบาท ด้านประสิทธิภาพฝูงบินและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1.2 หมื่นล้านบาท  การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 1.13 หมื่นล้านบาท การปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง 1,100 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน 719 ล้านบาท ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท และด้านอื่นๆ 3,200 ล้านบาท

การบินไทยลุ้นได้เงินกู้ 2.5 หมื่นล้านทัน ม.ค.

การบินไทยลุ้นได้เงินกู้ 2.5 หมื่นล้านทัน ม.ค.

นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้ยกระดับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ยกเลิกและปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารและพนักงาน อาทิ ยกเลิกสิทธิบัตรโดยสารกรรมการบริษัทฯ และพนักงานเกษียณ การจ่ายภาษี สิทธิการปรับชั้นโดยสาร (Upgrade) พนักงาน ค่าพาหนะผู้บริหาร ค่ารักษาพยาบาล

 

สำหรับ ในเรื่องของเครื่องบินเพื่อรองรับการเปิดประเทศและเป็นไปตามแผนฟื้นฟู โดยการบินไทยจะใช้ฝูงบินทั้งหมด 58 ลำ และปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานนาน 42 ลำ คาดว่าจะได้เงินเข้ามาอีก 8 พันล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทยอยขาย 11 ลำ ในเร็วๆนี้

การบินไทยลุ้นได้เงินกู้ 2.5 หมื่นล้านทัน ม.ค.

ด้านผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ระบุ เงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ในส่วนของภาครัฐคาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีหน้า และแม้ว่าภาครัฐจะใส่เงินเข้ามา การบินไทยก็ไม่ได้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะเงินที่ภาครัฐใส่เข้ามาจะมีสัดส่วนแค่ 40% เท่านั้น ส่วนเงินกู้จากเอกชนคาดว่าจะมีการลงนามได้ทันภายในธ.ค. และเริ่มเบิกจ่ายม.ค. ปีหน้า

 

logoline