svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เพื่อไทยรับลูกแก้ ม.112 ภารกิจชิงเสียงวัยรุ่น-พาคนไกลกลับบ้าน

02 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องอ่านท่าทีของพรรคเพื่อไทย หลังออกแถลงการณ์แทบจะทันทีวานนี้ พลันจบการชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ และเกิดเหตุการณ์ "น้องรุ้งกรีดแขน" เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

จริงๆ การชุมนุมครั้งนี้ก็ถูกตั้งคำถาม เพราะม็อบต่างๆ เงียบหายไปนาน ด้วย 3 สาเหตุ คือ 1.ไม่มีเหตุใหม่ในการขับไล่รัฐบาล 2.ฝนตกชุกต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคต่อการนัดรวมตัว และ 3.ม็อบทะลุแก๊ส สร้างความเบื่อหน่าย และทำให้ภาพลักษณ์การชุมนุมโดยรวมเสียหาย

 

แต่จู่ๆ ก็มีการนัดชุมนุม และพุ่งเป้าไปที่ประเด็นเดียวเท่านั้น คือ "ราษฎรประสงค์ยกเลิก ม.112" โดยไม่ได้ให้น้ำหนักกับข้อเรียกร้องเดิม โดยเฉพาะการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จ้นทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

หลายคนตั้งคำถามว่า ช่วงนี้คือพีคที่สุดของการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ คำตอบคือ "ไม่ใช่" เพราะช่วงที่พีคที่สุดได้ผ่านไปแล้ว เป็นช่วงที่แกนนำทุกคนโดนศาลสั่งขัง ไม่อนุญาตให้ประกันตัวเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งเพนกวิน รุ้ง ทนายอานนท์ หมอลำแบงค์ และคนอื่นๆ แต่ปัจจุบันยังมีแกนนำหลายคนที่อยู่นอกคุก เพราะได้รับประกันตัว จนสามารถนัดชุมนุม "ราษฎรประสงค์ยกเลิก ม.112" ได้

 

เพื่อไทยรับลูกแก้ ม.112 ภารกิจชิงเสียงวัยรุ่น-พาคนไกลกลับบ้าน

 

ทนาย กฤษฎางค์ นุตจรัส ให้ข้อมูลกับ “เนชั่นทีวี” ว่า นับตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นมา มีผู้ต้องขังคดีการเมืองในข้อหาต่างๆ ที่ศาลไม่ให้ประกันตัว ราวๆ 27 คน โดยมีทั้งคดี 112 และอื่นๆ ขณะที่บางส่วนได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว หากไม่กระทำผิดซ้ำ ก็จะไม่โดนถอนประกัน

 

นี่คือความน่าสนใจของการจัดชุมนุมประเด็นยกเลิก มาตรา 112 ในช่วงนี้ และไฮไลท์ คือ การ "กรีดแขน" ให้เลือดตกยางออก จนกลายเป็นประเด็นข่าว และสุดท้ายพรรคเพื่อไทยก็ออกแถลงการณ์​

 

 

 

แถลงการณ์ของ พรรคเพื่อไทย ลงนามโดย นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง และเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยด้วย และในอดีตเคยเป็นอัยการสูงสุด

 

เพื่อไทยรับลูกแก้ ม.112 ภารกิจชิงเสียงวัยรุ่น-พาคนไกลกลับบ้าน

 

เนื้อหาของแถลงการณ์มี 4 ประเด็นสำคัญ คือ

 

1.อ้างถึงปัญหาการใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีเพื่อจำกัดความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างอย่างล้นเกิน โดยเฉ​พาะ มาตรา 112 กับ มาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) รวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 

2.การบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ ทำให้ประชาชนสงสัยว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม

 

3.มีภาคประชาชนเรียกร้องและเสนอร่างแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พรรคเพื่อไทยในฐานะที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภา ฯ พร้อมนำข้อเสนอเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ทั้งเพื่อตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบการสั่งการโดยรัฐบาล และแก้ไขกฎหมาย รวมถึงระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

 

4.เป้าหมาย คือ เพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว และไม่ให้เกิดนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก

 

หลังพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ดังกล่าว ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นของวานนี้ ทีมโฆษกชุดใหม่ของพรรคก็เปิดตัว และเปิดประเด็นรับลูกเรื่องแก้ มาตรา 112 ด้วย โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการฟังเสียงประชาชน

 

คำถามตามมา คือ พรรคเพื่อไทยออกมาเล่นเรื่องนี้ในนามพรรค กำลังเป็นปฏิบัติการ "หาเสียงจากเด็ก" หรือไม่ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า คนที่โดนคดี 112 ส่วนมากเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาไล่รัฐบาล และลามไปถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งมาตรา 112  กลุ่มก้อนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีข้อเรียกร้องท้าทายสถาบันหลักของชาติ จริงๆ แล้วก็คือฐานเสียงสำคัญของพรรคก้าวไกล ที่พรรคเพื่อไทยต้องการแย่งชิง

 

เหตุนี้เอง คอการเมืองจึงสงสัยกันว่า ท่าทีของพรรคเพื่อไทยเป็นความจงใจเพื่อหวังผลทางการเมืองใช่หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าพรรคก้าวไกล เคยเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ่วงด้วยเรื่องอื่นอีก รวมแล้ว 5 ฉบับ 5 ประเด็น เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้แสดงท่าทีสนับสนุนหรือเข้าร่วมผลักดัน กระทั่งสุดท้ายถูกสภาฯ ตีตกไป ไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ เพราะเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

ขณะเดียวกันน่าคิดว่า แม้แต่ในพรรคก้าวไกลเอง ก็ยังขัดแย้งกันทางความคิด เพราะมี ส.ส. 9 คน ที่ไม่ได้ร่วมเซ็นชื่อเสนอร่างกฎหมาย และ 9 คน เกือบทั้งหมดก็กำลังจะอยู่พรรคก้าวไกลไม่ได้ เตรียมย้ายพรรค บางคนกลายเป็นงูเห่า น่าแปลกหรือไม่ ที่พรรคเพื่อไทยโดดมาเล่นเรื่องละเอียดอ่อนนี้ทันที

 

หลายฝ่ายมองโยงไปถึงยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยที่ทำมาตลอด คือ ยุทธศาสตร์พา "นายใหญ่" กลับบ้าน เริ่มจากเปิดตัว "อุ๊งอิ๊ง - แพทองธาร" ในฐานะชินวัตรสายตรง เพื่อหยุดเลือดไหลออก แก้ปัญหา ส.ส.ทิ้งพรค พร้อมหยั่งกระแสเป็นแคนดิเดตนายกฯ

 

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย

 

จากนั้น "อุ๊งอิ๊ง" ประกาศชัดกลางวงประชุมใหญ่ของพรรค ว่า "พ่ออยากกลับบ้าน" ทำให้สังคมตั้งคำถาม ภารกิจในทางการเมืองของ "อุ๊งอิ๊ง" คือ "พาพ่อกลับบ้าน" หรือบริหารประเทศกันแน่ 

 

อีกด้านหนึ่งก็เป็นการใช้ "อุ๊งอิ๊ง" ซึ่งมีภาพของคนรุ่นใหม่ ดึงคะแนนเสียงและความสนใจจากคนรุ่นใหม่ ด้วยการตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคฝ่ายการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม เชื่อมคนต่างเจน (gen) เข้าด้วยกัน ซึ่งแท้จริงแล้ว คือ การดึงเสียงคนรุ่นใหม่มาจากพรรคก้าวไกลนั่นเอง และล่าสุดคือท่าทีของพรรคที่รับลูกแก้มาตรา 112 อย่างออกนอกหน้า หวังเอาใจม็อบสามนิ้ว และเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่

 

ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ การปล่อย "นักโทษการเมือง" หรือ "ผู้คิดต่างทางการเมือง" ซึ่งเป็นคำที่พรรคเพื่อไทยและกลุ่มม็อบชอบใช้ จริงๆ แล้วคือผู้ที่กระทำผิดกฎหมายบางข้อ เช่น มาตรา 112 มาตรา 116 จัดชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แม้บางส่วนจะได้รับการประกันตัวจากศาล แต่สุดท้ายก็ต้องถูกดำเนินคดี ขึ้นศาลไปตามกระบวนการ คาดว่ามีนับร้อยคนหรือมากกว่านั้น หากจะปลดล็อกให้นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ อาจต้องมีการนิรโทษกรรมคนที่โดนคดี 112 หรือ 116

 

ตรงนี้เองที่หลายฝ่ายมองว่า อาจเป็นการพ่วงนิรโทษกรรม "คนแดนไกล" เข้าไปด้วยเลยหรือไม่ โดยอ้างเป็น "คดีการเมือง" ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ โดยดึงฐานเสียงจากพรรคเพื่อไทยมาได้ด้วย ก็จะมีความชอบธรรมที่จะเดินตามสูตรการเมืองนี้มากขึ้นนั่นเอง

 

 

 

 

logoline