svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปลดล็อกใบกระท่อม แต่ทำ กิน-ดื่ม ต้องขอ อย.

22 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อย. แจงอาหารที่มีส่วนประกอบของกระท่อมต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยของอาหาร ต้องส่งให้ อย.ตรวจอนุมัติก่อนนำไปใช้

22 ตุลาคม 2564 นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ขณะนี้พืชกระท่อมได้รับการปลดล็อกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 และให้ไปกำกับดูแลภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พืชกระท่อม พ.ศ. … โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

 

“อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงทำความเข้าใจว่า ในส่วนของใบกระท่อมซึ่งเป็นวัตถุดิบนั้น ไม่ต้องไปยื่นขออนุญาตกับ อย. แต่น้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตผลิตตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 กรณีนำกระท่อมมาปรุงประกอบอาหาร

 

ปลดล็อกใบกระท่อม แต่ทำ กิน-ดื่ม ต้องขอ อย.

ซึ่งขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย (ลำดับที่ 52 กระท่อม) เพื่อให้การใช้ส่วนของพืชกระท่อมและสารสกัด สามารถเป็นส่วนประกอบในอาหารได้”

เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อย.จึงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกระท่อมต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยของอาหาร และส่งมอบฉลากให้ อย.ตรวจอนุมัติก่อนนำไปใช้ ตามเงื่อนไขของประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 376) พ.ศ.2559 เรื่อง อาหารใหม่ (Novel food)

 

ปลดล็อกใบกระท่อม แต่ทำ กิน-ดื่ม ต้องขอ อย.

 

“กระท่อมเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์ และสรรพคุณที่หลากหลาย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจก็คือ ร่างกายของคนเราไม่สามารถย่อยก้านและใบกระท่อมได้ การบริโภคก้านใบกระท่อมในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการอุดตันในลำไส้ที่เรียกว่า ภาวะถุงท่อม ดังนั้น ขอให้บริโภคด้วยความระมัดระวัง และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีภาวะผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์” นพ.วิทิต กล่าว

 

รู้จักพืชกระท่อม

พืชกระท่อม (Kratom) หรือ Mitragyna speciosa (Korth.) HaviL. เป็นพรรณไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในวงศ์ Rubiaceae ถูกนำมาใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านมานานหลายร้อยปีแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

เป็นพืชที่พบมากทางใต้ของไทยไปจนถึงเขตชายแดน นิยมเคี้ยวใบสด หรือ ต้มเป็นชา เพื่อกระตุ้นให้ทำงานได้โดยไม่เมื่อยล้าในประเทศไทยมีการนำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และปวดมวนท้อง

 

ขณะที่ชาวมลายูใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล และใช้ทั้งใบเผาให้ร้อนวางบนท้องรักษาโรคม้ามโต ตลอดจนใช้กระท่อมเพื่อทดแทนฝิ่นในท้องที่ซึ่งหาฝิ่นไม่ได้ และบ่อยครั้งมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อควบคุมการติดฝิ่นโดยเฉพาะในประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน

 

ปลดล็อกใบกระท่อม แต่ทำ กิน-ดื่ม ต้องขอ อย.

พืชกระท่อมที่พบในไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และก้านแดง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละที่ เช่น ภาคเหนือเรียกอีด่าง อีแดง กระอ่วม ภาคใต้ เรียก ท่อม หรือท่ม ในมลายูเรียกคูทุม (Kutum) หรือ คีทุมเบีย (Ketum Bia) หรือ เบียก (Biak) ลาวเรียกไนทุม (Neithum) อินโดจีน เรียกโคดาม (Kodam)

logoline