svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เพื่อไทยสวด"ประยุทธ์"แก้น้ำท่วมเทียบไม่ติด"ยิ่งลักษณ์"

28 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"โฆษกเพื่อไทย" เทียบฝีมือ"ประยุทธ์"กับ " ยิ่งลักษณ์" แก้น้ำท่วมไม่ติดฝุ่น แนะดูตัวอย่างผู้นำต่างประเทศประชาชนต้องมาก่อน

28 กันยายน 2564 น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์คลิปพร้อมบทความสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 และการบริหารจัดการของรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่รีรอในการแก้ปัญหาน้ำท่วมทำอย่างไรให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด  โดยเนื้อหามีใจความว่า ถ้ายิ่งลักษณ์ยังอยู่  ตู่คงไม่ต้องสวดมนต์ไล่พายุ

 

ก่อนอื่นหญิงขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชนทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด และหญิงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งมือช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และเร่งเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด

 

น้ำท่วมทุกครั้ง หญิงก็ต้องนึกถึงโครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ ปี 2555 ในสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ทุกครั้ง นี่เป็นอีกครั้งที่ประเทศมีโอกาสที่จะดีกว่านี้ได้ แต่ถูกมือที่ทุกคนมองเห็นปัดตกไป วันนี้หญิงจะมาเตือนความจำทุกคนเองค่ะ

 

น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย

 

 

หลังจากรัฐบาล นายกฯยิ่งลักษณ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงแค่ไม่ถึงปี ก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นในปี 2554 ณ เวลานั้น นายกฯยิ่งลักษณ์ เดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนโดยไม่โทษใคร ทุกอย่างทำไปก็เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนให้ได้เร็วที่สุด

 

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ต่อมาในปี 2555 รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ จึงจัดทำแผนโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงินรวม 324,606 ล้านบาท มีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งหมด 8 แผนงาน

 

1. การฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าและดิน

 

2. การบริหารจัดการน้ำและอ่างเก็บน้ำหลัก และการสร้างอ่างกักเก็บน้ำอย่างเหมาะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก

 

3. การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อม พื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัดและของประเทศ

 

4. การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานพิษณุโลก (เหนือนครสวรรค์) และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ (เหนืออยุธยา) ให้เป็นแก้มลิงแม่น้ำเพื่อเก็บกักน้ำชั่วคราวในฤดูน้ำหลาก

 

5. การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ

 

เพื่อไทยสวด"ประยุทธ์"แก้น้ำท่วมเทียบไม่ติด"ยิ่งลักษณ์"

 

6. การจัดหาทางน้ำหลาก (flood way) และหรือทางผันน้ำ (flood diversion channel) เพื่อรับอัตราการไหลน้ำหลากส่วนเกินจากแม่น้าเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก ไปทางฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งใดฝั่งหนึ่ง รวมทั้งจัดทำทางหลวง (ระดับประเทศ) ไปพร้อม ๆ กัน

 

7. การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ ทั้งหลากและแห้ง

 

8. การปรับปรุงองค์กร (ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำสั่งการ กำกับ ดูแล ติดตาม พร้อมทั้งปรับปรุง/เพิ่มเติมกฎหมาย และกำหนดวิธีการเยียวยาที่เหมาะสม) การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์

 

โครงการที่สังคมจับจ้องในตอนนั้นคือโครงการสร้างฟลัดเวย์ถาวร ป้องกันน้ำท่วม

 

หญิงต้องบอกก่อนค่ะหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าฟลัดเวย์คือทางสำหรับควบคุมกระแสน้ำท่วม แต่จริงๆ แล้วฟลัดเวย์คือเส้นทางสัญจรในยามปกติ เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ต่างๆ แล้วคิดว่าน้ำกำลังมากเกินขีดความสามารถของเขื่อนระบายน้ำได้ทัน จึงจะใช้ฟลัดเวย์ค่ะ

 

ตามแผนแล้วการสร้างฟลัดเวย์แบบถาวรจะช่วยป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งจะผันน้ำตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงสู่อ่าวไทยโดยตรง โดยฟลัดเวย์จะมี 2 เส้นทาง คือ

 

1. แนวฟลัดเวย์ฝั่งเจ้าพระยาตะวันตก (ท่าจีน-เจ้าพระยา) ความยาว 314 กิโลเมตร

 

2. แนวฟลัดเวย์ฝั่งเจ้าพระยาตะวันออก (ป่าสัก-เจ้าพระยา) ความยาว 322 กิโลเมตร

 

ฟลัดเวย์ทั้ง 2 เส้นทาง จะช่วยลดทอนปริมาณน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ได้ประมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยน้ำหลากในปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะผันน้ำให้ลงสู่อ่าวไทยโดยตรง ซึ่งช่วยแบ่งเบากระแสน้ำที่ไหลมาจากตอนบนของลุ่มน้ำได้ และเป็นการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจภาคกลางได้อย่างถาวร

 

ฟลัดเวย์นอกจากจะทำหน้าที่เป็นเส้นทางคมนาคมในยามปกติ เป็นเส้นทางระบายน้ำหลากในภาวะน้ำท่วม ยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือยังเป็นการเพิ่มพื้นที่คลองชลประทานเพิ่มเติมให้กับเกษตรกรอีกด้วยค่ะ

 

เพราะการสร้างฟลัดเวย์จะทำควบคู่การขุดทางระบายน้ำและการก่อสร้างถนนสายใหม่ขนานกัน ทางระบายน้ำด้านข้างจะมีคลองชลประทานเรียบถนนตลอดระยะทาง เพื่อใช้เป็นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและอุปโภค ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางสามารถวางแผนปลูกข้าว หรือทำการเกษตรเพิ่มเติมได้

 

การทำฟลัดเวย์นี้ยังไม่จำเป็นต้องเวนคืนพื้นที่จากพี่น้องประชาชน เพราะแนวฟลัดเวย์ไม่ได้ตัดผ่านเขตพื้นที่อุตสาหกรรมหรือพื้นที่ชุมชน แต่เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมประจำ หรือพื้นที่การเกษตร หากมีความจำเป็นในบางจุดเท่านั้นค่ะ

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

โครงการนี้สะดุดลงเพราะ นายศรีสุวรรณ จรรยา ไปร้องต่อศาลปกครอง ว่าในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และการทำ EIA ของโครงการนั้น เป็นเรื่องกุขึ้น จนไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังเกิดรัฐประหาร ศาลได้ยกคำร้องของนายศรีสุวรรณ ไปโดยให้เหตุผลว่าโครงการยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง จึงไม่มีผลใดๆ ที่ทำให้เกิดการทุจริตตามที่นายศรีสุวรรณกล่าวอ้าง แต่โครงการก็ถูกล้มเลิกโดยรัฐบาล คสช.

 

เป็นอีกครั้งนะคะ ที่การกล่าวโทษใครโดยการกล่าวหา ในท้ายที่สุดถูกพิสูจน์ว่าไม่ผิด ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าผิด แต่ไม่เคยได้รับการขอโทษจากผู้นั้นเลย

 

แผนบริหารจัดการน้ำยิ่งลักษณ์ vs การรับมือน้ำท่วมในญี่ปุ่น

 

เรื่องน้ำท่วมมันเป็นภัยธรรมชาติที่ใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ประเทศส่วนใหญ่ก็เจอปัญหาน้ำท่วมกันทั้งนั้น แต่อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร เราจะเรียนรู้อะไรจากน้ำท่วมได้บ้าง

 

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ในอดีตประสบกับปัญหาน้ำท่วมค่อนข้างบ่อย ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ เจอพายุ เจอไต้ฝุ่น แต่ญี่ปุ่นก็เรียนรู้ค่ะ เขาเจ็บแล้วจำ เอาเงินมาป้องกันก่อนเกิดเหตุเหมือนที่รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ คิดจะทำแต่ถูกสกัด

 

ญี่ปุ่นจึงสร้างเขื่อนใต้ดินขนาดใหญ่  ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 17 ปี เป็นระบบระบายน้ำใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยให้กรุงโตเกียวและพื้นที่โดยรอบไม่ถูกน้ำท่วมอีกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

หรืออย่างในประเทศเยอรมนี ที่เมื่อเดือนกรกฎาคม เกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีผู้ได้รับผลกระทบนับแสนและเสียชีวิตกว่า 200 คน แต่สิ่งที่รัฐบาลเยอรมันทำได้ คือ ความไวของการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งทีมกู้ภัย สิ่งของและเงินช่วยเหลือ ที่สำคัญคือการอนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวมามากกว่า 15,000 ล้านบาท ที่อนุมัติภายในระยะเวลาเพียง 9 วัน เท่านั้น ครอบคลุมทั้งเงินสนับสนุนฉุกเฉิน เงินสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในกำหนดระยะเวลาคืนที่นานพอ

 

อีกอย่างคือบทบาทของผู้นำประเทศอย่าง Angela Merkel ที่ลงไปดูหน้างานทั้งๆ ที่ใกล้จะอำลาตำแหน่ง พร้อมที่จะตัดสินใจถ้าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในทันที และไม่มีคำพูดประเภทว่า “อดทนนะ สวดมนต์นะ ย้ายบ้านนะ” แต่เธอมาพร้อมคำพูดว่า “เราจะไม่ลืมพวกคุณ”

 

พี่น้องประชาชนคิดว่าประโยคไหนจะสร้างกำลังใจให้คนที่กำลังเดือดร้อนอยู่มากกว่ากันคะ

 

การแก้ปัญหาน้ำท่วม คือ การเรียนรู้บทเรียนและวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ เห็นทุกข์ร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง เร่งทำ เร่งช่วย เร่งแก้ปัญหา แล้วป้องกัน เพื่อไม่ให้ประเทศต้องเจอปัญหาซ้ำเดิมเหมือนพายเรือวนในอ่างแบบนี้ โควิดก็ยังไม่จบยังต้องมาพบกับน้ำท่วมอีก สุดท้ายประชาชนคือคนที่รับกรรม

 

โดยน.ส.อรุณี ได้นำบทสัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในปี 2555 เรื่องการเยียวยาประชาชนที่เร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วทั้งที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียงปีเดียว

 

“…ถ้าเรามารอไปทีละขั้น มันไม่ทันแล้วละค่ะ การแก้ปัญหาน้ำ มันต้องแก้ตั้งแต่เมื่อวานแล้วด้วยซ้ำไป…” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 

 

 

logoline