svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

8 ข้อ ต้องรู้ หลัง "ดอยหลวงเชียงดาว" ได้รับประกาศเป็น "พื้นที่สงวนชีวมณฑล"

16 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากที่ "ยูเนสโก" ได้ประกาศรับรองให้ "ดอยเชียงดาว" เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของไทย ทีมข่าวเนชั่นออนไลน์ ได้รวบรวม 8 ข้อที่ต้องรู้เกี่ยวกับพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 5 ของประเทศไทย

16 กันยายน 2564  หลังจากที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการมนุษย์และชีวมณฑล กับองค์การยูเนสโก มาเป็นระยะเวลา 45 ปี เพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อการศึกษาและวิจัยสู่พื้นที่แห่งการมีส่วนร่วมและมีการพัฒนาที่ยั่งยื่น "เนชั่นออนไลน์" จะพาไปทำความรู้จัก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว หลังจากที่ "ยูเนสโก" ประกาศรับรองให้ "ดอยหลวงเชียงดาว" เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 5 ของประเทศไทยกัน 

"ยูเนสโก" ประกาศรับรองให้ "ดอยหลวงเชียงดาว" เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล

1. "ดอยหลวงเชียงดาว" มีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ จากลักษณะภูมิประเทศที่เป็น "ภูเขาหินปูน" ซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของ "ลุ่มน้ำปิง" ตอนบน

2."ดอยหลวงเชียงดาว" มีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่หาชมได้ยากในประเทศไทย และเป็นถิ่นอาศัยของพรรณไม้กว่า 2,000 ชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพรรณไม้ในประเทศไทย

3. พรรณไม้ที่ "ดอยหลวงเชียงดาว" มีความเชื่อมโยงกับพรรณพืชในเทือกเขาหิมาลัย ทางตอนใต้ของประเทศจีน

4. "ดอยหลวงเชียงดาว" มีถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนกว่า 672 ชนิด จาก 358 สกุล ใน 91 วงศ์ รวมถึงยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของ "กวางผา" และ "เลียงผา" สัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย

"ยูเนสโก" ประกาศรับรองให้ "ดอยเหลืองเชียงดาว" เป็น "พืนที่สงวนชีวมณฑล"

"เอื้องพวงองุ่น" พรรณไม้จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่
 

5."ดอยเชียงดาว" มีประวัติการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาเป็นเวลามากกว่า 600 ปี เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนเผ่าชาวไทยภูเขา 5 ชนเผ่า ได้แก่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกากะญอ และชาวไทยล้านนา ซึ่งแต่ละชนเผ่าต่างมีวัฒธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกาย ภาษาพูด ที่แตกต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

6. ตำนาน "ถ้ำเชียงดาว" ที่เชื่อว่า "เจ้าหลวงคำแดง" เป็นสัญลักษณ์ของชนเผ่าไทยในลุ่มน้ำโขง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อ พ.ศ. 2555

7. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ประกาศจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2521 และตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ ทำให้ "ดอยเชียงดาว" ยังคงความอุดมสมบูรณ์ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าที่สำคัญกับการอนุรักษ์ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

8. "ดอยหลวงเชียงดาว" มีสภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์และสภาพภูมิประเทศสลับซับซ้อน มีทัศนียภาพที่สวยงามแปลกตา จนได้รับควานิยมในการท่องเที่ยวเชิงนเวศมากขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

"ยูเนสโก" ประกาศรับรองให้ "ดอยเหลืองเชียงดาว" เป็น "พืนที่สงวนชีวมณฑล"

โดย "ดอยหลวงเชียงดาว" จะได้ประโยชน์จากการจัดตั้งเป็น "พื้นที่สงวนชีวมณฑล" นั้น สิ่งที่คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นมีในหลายด้าน อาทิ การถ่ายทอดความรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม การส่งเสริมการพัฒนาการให้บริการที่เป็นมืออาชีพทั้งด้านการท่องเที่ยว และการศึกษาธรรมชาติ การเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้า ผลิตภัณฑ์และการบริการที่ผลิตในพื้นที่นำเสนอ ด้วยการควบคุมคุณภาพของสินค้าภายใต้การเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑล การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี และความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้ประชาชน เกิดการบูรณาการกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ตอบสนองเป้าหมายร่วมให้พื้นที่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ระบบนิเวศ การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของชุมชน และการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ไปยังเครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลอื่น ๆ ทั่วโลก และเป็นความภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดที่ได้รับความสำคัญในระดับสากล และนี่คือ ความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 5 ของประเทศไทย

"กวางผา" หนึ่งในสัตว์สงวนของไทย มีแหล่งอาศัยอยู่ที่ "ดอยเชียงดาว"

logoline