svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"ชิบ จิตนิยม " ถอดยุทธวิธีสลายม็อบที่น่าชื่นชมแบบอินเดีย

24 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อมีการชุมนุมจนถึงระดับก่อความวุ่นวาย ตำรวจจะต้องทำอย่างไรเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้ลุล่วงและอย่างสันติ เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นในอินเดีย เมื่อตำรวจระดับรองผู้บัญชาการตำรวจสามารถโน้มน้าวให้ม็อบที่ไม่มีแกนนำ ทำตามสิ่งที่เขาขอร้องได้

มีคำกล่าวในอินเดียว่าตำรวจควรเรียนรู้วิธีการสลายม็อบที่ชอบก่อความรุนแรงโดยดูตัวอย่างจากตำรวจในเมืองบังกาลอร์ของอินเดีย

 

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2562 เมื่อชาวอินเดียจำนวนมากในเมืองเบงกาลูรูหรืออีกชื่อหนึ่งก็คือเมืองบังกาลอร์ในรัฐการนาฏกะออกมาประท้วงร่างแก้ไขกฏหมายสิทธิพลเรือนและการลงทะเบียนประชากรจนเกิดแนวโน้มจะเกิดความไม่สงบไปทั่วเมือง ตอกย้ำภาพของการใช้ความรุนแรงของตำรวจในการสลายม็อบที่้เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วอินเดีย ซึ่งหนึ่งในวิธีการสลายม็อบก็คือการใช้ตะบองทุบตี

แต่เชทาน ซิงห์ ราธอร์ รองผู้บัญชาการตำรวจบังกาลอร์ได้สร้างแบบอย่างด้วยการพูดคุยกับม็อบแบบไม่ต้องเตรียมตัวมาก่อน แต่รู้โดยหลักการว่าปกติเมื่อมีม็อบที่มีแกนนำก็ต้องพูดคุยผ่านแกนนำ แต่กรณีนี้ผู้ประท้วงมาโดยไม่มีแกนนำ มีทั้งนักเรียนและคนทำงานในแวดวงต่างๆมากมายรวมถึงชุมชนชาวมุสลิมด้วย ทุกคนต่างมีแนวคิดของตัวเองและใช่ว่าจะเหมือนกันหมด ไม่ใช่แค่ตอบโต้กับตำรวจเท่านั้น แต่ยังอาจทะเลาะกันเองด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเข้าตำราหายนะสำหรับการชุมนุมจนยากจะควบคุมได้

 

ดังนั้นแทนที่จะให้ตำรวจจับกุมคุมขังหรือใช้ตะบองตี เชทานกลับจับไมค์และร้องขอให้ผู้ประท้วงนั่งลงและฟังเขาสักนิด เขาบอกว่าอาจมีคนในหมู่ผู้ประท้วงที่ต้องการยั่วยุให้ปะทะกับตำรวจด้วยการขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นตำรวจก็ต้องตอบโต้ซึ่งจะทำให้ต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บได้ เพราะฉะนั้นอย่าตกเป็นเหยื่อของคนต้องการฉวยโอกาสจากสถานการณ์นี้

 

เชทานบอกว่าเขาสวมวิญญาณเอาใจเขามาใส่ใจเราและพูดออกไปเหมือนตัวเองเป็นแกนนำของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่พูดตามแบบฉบับตำรวจเก่าๆ

จุดไคลแม็กซ์มาถึงเมื่อเขาพูดกับผู้ประท้วงว่า "หากไว้ใจเขา เขาจะร้องเพลงให้ฟังและขอให้ผู้ประท้วงร่วมร้องด้วย ว่าแล้วก็ร้องเพลงชาติอินเดีย ซึ่งปรากฏว่าผู้ประท้วงต่างพร้อมใจประสานเสียง

 

เพลงชาติจบลงด้วยเสียงเชียร์และชื่้นชมรองผู้บัญชาการตำรวจนายนี้ก่อนที่ผู้ประท้วงจะยอมสลายตัวไปอย่างสงบ ไม่มีแม้แต่เสียงบ่นพึมพัม มุบมิบ

 

ชาเทน ซิงห์ ราธอร์ รองผู้บัญชาการตำรวจของบังกาลอร์กลายเป็นคนดังในโซเชียล มีเดียในทันทีท่ามกลางเสียงชื่นชมความฉลาดในการแก้ปัญหา ด้วยแววตาที่เป็นมิตรและรอยยิ้มที่ทำให้ผู้พานพบรู้สึกได้ถึงความมีเมตตา

 

ชาเทนเล่าว่าผู้ประท้วงส่วนใหญ่มาร่วมชุมนุมเพราะโซเชียล มีเดีย และปราศจากแกนนำ เขาพยายามเตือนว่าอย่าตกเป็นเหยื่อของคนฉวยโอกาส ยิ่งมากกลุ่มยิ่งต้องระวังหากไม่มีการสื่้อสารระหว่างกัน คนที่ชอบก่อความวุ่นวายมักเป็นคนพูดเก่ง พูดแบบน้ำไหลไฟดับ เพื่อให้ผู้ชุมนุมยอมรับความเป็นผู้นำและทำตามที่พวกเขาต้องการแม้จะละเมิดกฏหมาย ดังนั้นจึงต้องฟังด้วยว่าคนที่อยากเป็นแกนนำยอมรับฟังผู้ร่วมชุมนุมหรือไม่ ถ้าไม่ก็อย่าไปตามเขา

logoline