svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

เครือข่ายชาวบ้านจี้ลดงบประมาณจัดการน้ำปี 65 ระบุไม่คุ้มค่า

21 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง รวมตัวอ่านเอกสาร เสนอปรับลดงบประมาณโครงการจัดการน้ำปี 65 บทเรียนที่ผ่านมาไม่คุ้มทุนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศแนะจะต้องแก้ไขปัญหาเก่าที่ค้างคาให้เสร็จ

 21 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ประชุมหารือถึงคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะที่ 1.2 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานประธาน
 โดยทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างได้มีข้อสรุปว่าที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ถึงงบประมาณและโครงการที่จะเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยเปิดเผยข้อมูลรายละเอียด ในขณะที่ผ่านมาเราเคยมีบทเรียนจากผลกระทบอันเกิดมาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูล(เดิม) รัฐก็ยังแก้ไขปัญหายังไม่เสร็จ จึงทำให้วันนี้ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์

 โดยนายจันทรา จันทาทอง อายุ 46 ปี กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ได้เป็นตัวแทนอ่าน เนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่า ให้รัฐทบทวนปรับลดงบประมาณและโครงการจัดการน้ำ ปี 2565 จากกรณี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564  มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะที่ 1.2 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีถึงแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2565 เป็นแผนแม่บท 6 ด้าน จำนวน 48,687 โครงการ วงเงินรอรับงบประมาณ 366,538.84 ล้านบาท ประกอบด้วย การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 5,465 โครงการ วงเงินรอรับงบประมาณ 31,873.54 ล้านบาท การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 27,649 โครงการ วงเงินรอรับงบประมาณ 201,873.54 ล้านบาท
     โดยเฉพาะลุ่มน้ำชี-มูล ของบประมาณมากสุดกว่า 1.3 หมื่นโครงการ งบรวม 5.4 หมื่นล้าน และภาพรวมการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 5,143 โครงการ วงเงินรอรับงบประมาณ 117,302.94 ล้านบาท ในขณะที่ลุ่มน้ำชี 7,236 โครงการ วงเงินรอรับงบประมาณ 41,287.04 ล้านบาท ซึ่งทำให้ประชาชนหลายกลุ่มตั้งข้อสังเกตต่อกรณีการจัดตั้งงบประมาณและโครงการไว้แล้วจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการจัดการน้ำได้มีการตั้งธงไว้แล้ว แต่ชาวบ้านในพื้นที่กลับไม่เคยรับรู้ข้อมูลที่มาที่ไปของงบประมาณเหล่านี้ 
ดังนั้นเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร มองว่าการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะโครงการ โขง ชี มูล(เดิม)ที่ผ่านมา มีบทเรียนว่าผลกระทบได้เกิดขึ้นจริงเมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างของชุมชนโดยตรง เมื่อโครงสร้างของชุมชนถูกทำลาย การล่มสลายจึงเกิดขึ้นกับชุมชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ระบบนิเวศน์และวัฒนธรรม ซึ่งตัวชี้วัดของความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมและง่ายต่อความเข้าใจ คือ สภาวะน้ำท่วมที่ผิดแผกไปจากอดีตที่เคยมีเคยเป็น ภาวะน้ำท่วมอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐแตกต่างจากการท่วมที่เป็นไปตามกลไกธรรมชาติอย่างในอดีตโดยสิ้นเชิง น้ำหลากที่เกิดจากธรรมชาติ ชาวลุ่มน้ำสามารถปรับตัวให้สอดคล้องอยู่ได้ สามารถคาดคะเนหรือคาดการณ์การมาของน้ำจนถึงขั้น “จับชีพจรน้ำ” ได้ แต่ภาวะน้ำท่วมอันเป็นผลมาจากโครงการพัฒนาของรัฐเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ชาวบ้านมิอาจปรับตัวให้กลมกลืนหรือยังชีพอย่างปกติสุขได้ 

เครือข่ายชาวบ้านจี้ลดงบประมาณจัดการน้ำปี 65 ระบุไม่คุ้มค่า

การไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำข้อมูลผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และหารือกับชุมชนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมทั้งสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของผู้เข้าร่วมหารือ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลักของการหารือคือ “การเปิดเผยข้อมูลของโครงการ โดยต้องจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโครงการอย่างครบถ้วนทั้งในด้านประโยชน์ที่จะได้รับและด้านผลกระทบทางลบ  ให้ผู้มีส่วนได้เสียและสาธารณชนทั่วไปได้รับทราบ โดยข้อมูลที่ที่เจ้าของโครงการจะต้องเผยแพร่แก่ประชาชน เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่นำไปตัดสินใจ ก่อนที่จะกำหนดโครงการและงบประมาณ ไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจอยู่จากส่วนบนอย่างเดียว 

เครือข่ายชาวบ้านจี้ลดงบประมาณจัดการน้ำปี 65 ระบุไม่คุ้มค่า

 

จะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมรายโครงการ ที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านในพื้นที่ เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลทบทวนปรับลดงบประมาณ โครงการ ที่สูงมากและเปิดเผยรายละเอียดโครงการ เพื่อให้ประชาชนสามารตรวจสอบได้  แก้ไขปัญหาเก่าให้แล้วเสร็จโดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อย่างเช่น โครงการ โขง ชี มูล ในลุ่มน้ำมูล น้ำชี ที่ยังแก้ไขไม่เสร็จ 
ให้มีการศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment  เพื่อประเมินศักยภาพพื้นที่ ว่าเหมาะสมต่อการดำเนินโครงการนั้น ๆ หรือไม่และให้ยุติแผนพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อย่างเช่น โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศ และความไม่คุ้มทุนของโครงการ เพราะที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นชัดว่าโครงการโขง ชี มูล(เดิม)ไม่ก่อให้เกิดความคุ้มทุนในการใช้งบประมาณ
 

โดย  - ศูนย์ข่าวภาคอีสาน 

 

เครือข่ายชาวบ้านจี้ลดงบประมาณจัดการน้ำปี 65 ระบุไม่คุ้มค่า

 

logoline