svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“จาตุรนต์-เส้นทางใหม่” จังหวะก้าวเครือข่ายทักษิณ

21 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความเคลื่อนไหวการเมืองไทย ต้องบอกว่า “ยังลูกผีลูกคน” แม้นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเลิก WFH แล้วเริ่มออกงาน ออกมาให้สัมภาษณ์ พร้อมแสดงความมั่นใจว่าน่าจะ “เอาอยู่” สำหรับสถานการณ์โควิดระบาดระลอก 3-4 และน่าจะตีตั๋วอยู่ต่อ เพราะฝ่ายค้านทะเลาะกันเองก็ตาม 

แต่เมื่อดู "หน้าไพ่การเมือง" อีกฟากฝั่งหนึ่ง กลับพบความคึกคักของการตั้งพรรคการเมืองใหม่ จนทำให้คิดได้เหมือนกันว่า หรือบรรดานักเลือกตั้งเขาประเมินตรงกันว่า เวลาของรัฐบาลชุดนี้ใกล้หมดลงแล้ว

 

เมื่อวันก่อน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โพสต์เฟซบุ๊กเตรียมเปิดตัวพรรคใหม่ แต่ยังขออุบชื่อเอาไว้

 

ขณะที่ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ปรากฏโพสต์ของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์​ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มสี่กุมาร ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง พร้อมข้อเสนอฝ่าวิกฤติ ที่น่าจะถูกใจคนวัยทำงาน และกลุ่มผู้มีการศึกษา เพราะเป็นข้อเสนอในแนวงานบริหาร

 

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับ "พรรคไทยสร้างไทย" ที่เปิดตัวไปก่อนแล้ว โดยมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นั่งประธานที่ปรึกษา

 

และยังมี "พรรคเป็นธรรม" ที่มี "เสธ.แมว" พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เป็นหัวหอกขับเคลื่อน แต่ไม่ใช่หัวหน้าพรรค

 

คนที่ออกอาการชัดสุดว่ารัฐบาลน่าจะอายุไม่ยืน คือ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่กลุ่มแคร์ Rebranding ให้ใหม่ในนาม "พี่โทนี่" จนกลายเป็นชื่อฮ็อตฮิต ถูกกล่าวขวัญถึงไปทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวตั้งพรรคใหม่ เกือบทั้งหมดเป็นคนใกล้ชิด “พี่โทนี่” ทั้ง นายจาตุรนต์  ทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ และ เสธ.แมว ยกเว้นเพียง นายสนธิรัตน์ เท่านั้นที่เคยทำงานกับฟากของ คสช. และ “บิ๊กตู่”

 

ส่วน "พรรคบิ๊กฉิ่ง" ที่ลือกันว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เชิญชวนบรรดาอดีตข้าราชการน้ำดี และกลุ่มเทคโนแครตมาสร้าง “ฐานที่มั่นใหม่” ให้กับกลุ่ม 3 ป. นั้น ตอนนี้ข่าวเงียบไปแล้ว ตั้งแต่การแต่งตั้งปลัดมหาดไทยคนใหม่พลิกโผ ไม่เป็นไปตามที่ “ปลัดฉิ่ง” ผลักดัน

 

ทำให้ยังไม่รู้อนาคตของพรรคที่แง้มชื่อออกมา และจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ทั้ง "พรรคเศรษฐกิจไทย" และพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าจะเดินหน้าต่อ หรือรอลุงตู่เคาะ

 

“จาตุรนต์-เส้นทางใหม่” จังหวะก้าวเครือข่ายทักษิณ

หากโฟกัส พรรคของนายจาตุรนต์ แม้จะยังไม่ได้บอกชื่อ แต่คนในวงการรู้กันดีว่า ซุ่มเตรียมเปิดตัวพรรคใหม่ ชื่อ "พรรคเส้นทางใหม่" นอกจากไว้สู้ศึกเลือกตั้งแล้ว ยังใช้เป็น "ชายคาพักใจ" ให้กับอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ที่คนสงสัยกันว่าโยงอดีตนายกฯทักษิณ

 

ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญุยุบพรรคไปก่อนการเลือกตั้งปี 62 และแกนนำเหล่านี้มีบางส่วนไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่กลับเข้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ เพราะปัญหาภายใน

 

โดยนายจาตุรนต์เอง ก็คือหนึ่งในคนที่ถูกปฏิเสธจากพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ยุคคุณหญิงสุดารัตน์ และเมื่อปีกคนเดือนตุลาฯ ที่ทำงานให้อดีตนายกฯทักษิณ ออกมาตั้ง "กลุ่มแคร์" นำโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย ปรากฏว่า นายจาตุรนต์ ก็ไม่มีชื่อไปร่วมแสดงบทบาท เพราะไม่ค่อยลงรอยกับแกนนำในกลุ่มแคร์

 

การสร้างบ้านของตัวเองจึงเหมาะสมที่สุด แม้เจ้าตัวจะอ้างว่าสถานการณ์ช่วงนี้ เหมาะกับการเปิดตัวพรรคเส้นทางใหม่ เนื่องจากรัฐบาลแก้ไขปัญหาโควิดล้มเหลว โดนม็อบไล่ และยังไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่จริงๆ แล้วเป็นการเลือกจังหวะเวลาเปิดตัว

 

ในช่วงที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือ "เสี่ยเต้น" อดีตแกนนำ นปช. และอดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ รับไม้ต่อเป็นแกนนำ "คาร์ม็อบ" เพราะแกนนำคนสำคัญที่เป็นจุดขายของ "พรรคเส้นทางใหม่" ก็คือนายณัฐวุฒิ นั่นเอง

 

เมื่อพลิกดูที่ตั้งของพรรคเส้นทางใหม่ จะพบว่าอยู่ใน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ "เสี่ยเต้น ณัฐวุฒิ"

 

"ตลาด" หรือ "กลุ่มเป้าหมาย" ของพรรคเส้นทางใหม่ นอกจากแฟนคลับของนายจาตุรนต์ ที่มีภาพนักการเมืองน้ำดีแล้ว ยังมุ่งแย่งคะแนน "คนรุ่นใหม่" จากพรรคก้าวไกล โดยอาศัยบทบาท “ผู้นำม็อบคุณภาพ” ของนายณัฐวุฒิ ซึ่งคาดว่าจะแบ่งฐานคะแนนมาได้ส่วนหนึ่ง

 

นอกเหนือจากนั้น คืออดีตแกนนำเสื้อแดงสาย "ไทยรักษาชาติ" เช่น นายก่อแก้ว พิกุลทอง และอดีต ส.ส.ในเครือข่ายของนายจาตุรนต์ เช่น ตระกูลฉายแสง เป็นต้น

 

ส่วนแหล่งทุน แว่วว่าใช้บริการของอดีตแหล่งทุน ที่เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทยในอดีต ซึ่งแหล่งทุนรายนี้ เคยประกาศล้างมือในอ่างทองคำไปแล้ว แต่เชื่อว่ายังตัดไม่ขาด น่าจะต้องมีการต่อสายสนับสนุนพรรคหรือกลุ่มการเมืองอยู่บ้าง และหนึ่งในนั้นน่าจะเป็นพรรคเส้นทางใหม่นี่เอง

 

เมื่อแหล่งทุนยังใช้คนเดียวกับที่เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของอดีตนายกฯทักษิณ จึงเป็นไปไม่ได้ ที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้ "พี่โทนี่" จะไม่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็น สะท้อนว่า "คนแดนไกล" แม้ตัวจะอยู่ไกล แต่มอนิเตอร์การเมืองไทยใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับศึกเลือกตั้งใหม่ตลอดเวลา โดยแทงหวยว่า รัฐธรรมนูญจะไม่ถูกแก้ และอาจต้องเลือกตั้งด้วยระบบบัตรใบเดียวเหมือนเดิม

 

ฉะนั้นยุทธการ "แตกแบงก์พัน" คือ ให้แกนนำคนสำคัญกระจายไปตั้งพรรคการเมือง จึงยังต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งประโยชน์ที่จะได้ตามมาอีกส่วนหนึ่งจากยุทธการนี้ คือ แกนนำที่ขัดแย้งกัน จะได้ไม่ต้องปีนเกลียวกัน แต่แยกกันไป "สร้างดาวคนละดวง" จากนั้นหากชนะเลือกตั้ง ช่วงชิงอำนาจรัฐกลับมาได้ ก็จะมารวมกันตั้งรัฐบาลชุดใหม่

 

ฟากคุณหญิงสุดารัตน์ ยื่นยันว่า "ไม่แตกแบงก์พัน จริงๆ"

 

นี่ยังไม่รวมพรรคที่แตกแบงก์พันเอาไว้แล้ว อย่าง พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ ซึ่งหากการเลือกตั้งใหม่ยังใช้กติกาบัตรใบเดียว ก็จะยังคงใช้ยุทธการ "แยกกันเดิน รวมกันตี" ต่อไป

 

งานนี้ต้องบอกว่าฝั่งพลังประชารัฐ และ 3 ป. ทำท่าจะตกเป็นรอง โดยเฉพาะหากจำต้องจัดเลือกตั้งเร็ว ยิ่งสุ่มเสี่ยงจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพราะอดีตพันธมิตรดั้งเดิม อย่าง กลุ่มสี่กุมาร ก็ไปสร้างความแค้นให้ จนอาจจะกลับมารวมกันอีกไม่ได้ ขณะที่พรรคใหม่ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก มรสุมการเมืองก็ยังรุมเร้า

 

ทางออกเดียว คือ ต้องอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด เพื่อฟื้นคะแนนนิยม และเตรียมความพร้อมของฝ่ายตัวเอง

logoline