svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ชาวสวนเฮ! ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ลดปัญหาหนี้นอกระบบ

19 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บอร์ดเกษตรกรรมยั่งยืน เห็นชอบโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ขยายผลใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ รวมวงเงินค้ำประกัน 130ล้านบาท

19 สิงหาคม 64  นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผล การประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (บอร์ดเกษตรกรรม) ครั้งที่ 2/2564 วันที่ 18 ก.ค.64 ว่า

 

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ โครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมาย 6 ประการ ได้แก่

 

1. การเพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

 

2. การเพิ่มทรัพย์สิน รายได้ อาชีพและธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับประชาชน

 

3. การลดปัญหาหนี้นอกระบบ

 

4. การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและนอกเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชนและเมือง แก้ปัญหา Pm2.5

 

5. การแก้ปัญหาโลกร้อน (Global Warming)

 

6. เพิ่มคาร์บอนเครดิตของประเทศและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) และยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การเกษตร และเศรษฐกิจ

 

"ระบบการให้สินเชื่อ โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ผ่านมายังดำเนินการได้ไม่มากนัก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน จึงมอบนโยบายให้ต่อยอดขยายผล (Scale up) โครงการ ด้วยการเร่งส่งเสริมเกษตรกรและประชาชนปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินตนเอง ซึ่งเป็นการเพิ่มทรัพย์สินสร้างหลักประกันให้กับครอบครัวและความมั่นคงในอนาคต รวมทั้งสามารถใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ โดยเกษตรกร ประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับวงเงินสินเชื่อรายย่อย 50,000 - 100,000 บาท/ราย และวงเงินสินเชื่อรายใหญ่จากสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารเป็นต้น" ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

จากข้อมูลของกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ (ณ วันที่ 5 ก.ค. 2564)  โครงการสินเชื่อไม้ยืนต้น ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 87 สัญญา จำนวน 119,498 ต้น วงเงิน 134,375,912.00 บาท

 

โดยแบ่งเป็น กลุ่มให้สินเชื่อรายย่อย (พิโกไฟแนนซ์ ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 5 หมื่น ถึง 1 แสนบาท) 80 สัญญา คิดเป็น 92% ของสัญญารวมวงเงินค้ำประกัน 4 ล้านบาท กลุ่มสถาบันการเงิน (ธนาคารกรุงไทยและ ธ.ก.ส.) 7 สัญญา คิดเป็น 8% ของสัญญา รวมวงเงินค้ำประกัน 130 ล้านบาท ชาวสวนเฮ! ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ลดปัญหาหนี้นอกระบบ

จากวิกฤตโควิด19 ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมกลับคืนถิ่นสู่ภาคเกษตรกรรมมากขึ้น นอกจากปลูกพืชหมุนเวียนที่สร้างรายได้จุนเจือในชีวิตประจำวัน การปลูกพันธุ์ไม้เศรษฐกิจก็เป็นอีกเงินออม การลงทุนระยะยาว และยังช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบได้ด้วย

 

ปัจจุบันมีการแยกประเภทพันธุ์ไม้ที่มีศักยภาพสำหรับปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ ตามโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทุนระยะยาว โดยใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราการเติบโต รอบตัดฟัน และมูลค่าของเนื้อไม้มาใช้เพื่อแบ่งต้นไม้ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

 

กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ กลุ่มนี้จะมีมูลค่าต่ำ เช่น ยูคาลิปตัส สัตตบรรณ กระถินเทพา กระถินณรงค์ ฯลฯ

 

กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา กระบาก สะตอ ฯลฯ

 

กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง ได้แก่ สัก ฯลฯ 

 

กลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม มะค่าโมง ฯลฯ เป็นต้น"  

ชาวสวนเฮ! ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ลดปัญหาหนี้นอกระบบ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินราคาทรัพย์สิน นายไพรัช มณฑาพันธุ์ นายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย เคยได้กล่าวไว้ในหัวข้อ "ต้นไม้มีมูลค่า ประเมินราคาอย่างไร" จัดโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่า "การประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นเพื่อรับเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้ไม้ยืนต้นสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันนั้น ก็เพื่อให้ "ต้นไม้" ซึ่งมีมูลค่าในตัวเองโดยไม่ถือเป็นส่วนควบของที่ดิน สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ แต่เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าต้นไม้เป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้หลักวิธีการประเมินทรัพย์สินอื่นที่เทียบเคียง

 

 โดยวิธีการประเมินทรัพย์สินที่เป็นมาตรฐานสากลโดยทั่วไปจะใช้หลัก IVSC (International Valuation Standards Council) แบ่งเป็น 3 วิธี ได้แก่

 

วิธีที่ 1 การประเมินโดยคิดจากมูลค่าต้นทุน (Cost Approach) คือ มูลค่าของไม้ยืนต้นจะเท่ากับผลรวมของต้นทุนทั้งหมดในการพัฒนาผลผลิต ได้แก่ ต้นทุนเริ่มเตรียมการ การพัฒนาดิน ค่ากล้าไม้ และต้นทุนอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยจ่าย เบี้ยประกัน ค่าแรง ค่าใช้จ่ายอื่นๆในการประกอบการ วิธีนี้จะไม่คำนึงถึงศักยภาพของผลผลิต และการเติบโตในอนาคต ดังนั้น ต้นทุนที่สูงไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าตลาดว่าจะสูงตามไปด้วย

 

วิธีที่ 2 การประเมินโดยเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) วิธีการนี้เป็นการวิเคราะห์มูลค่าจากการซื้อขายต้นไม้จริง การเปรียบเทียบราคา การใช้ข้อมูลทางสถิติ ข้อมูลราคาไม้แปรรูปในตลาดเปิด เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) สำนักงานส่งเสริมปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ เป็นต้น รวมทั้งการพิจารณามูลค่ามาตรฐานไม้ยืนต้น แก่นไม้ กระพี้ เปลือก วิธีนี้จะสะท้อนมูลค่าของตลาด แต่ข้อมูลที่ใช้สำหรับเปรียบเทียบราคาจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการประเมินราคาด้วย

 

วิธีที่ 3 การประเมินโดยคิดจากรายได้ (Income Approach) คือ การประเมินมูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนสุทธิที่จะได้มาในอนาคต ด้วยการจัดทำประมาณการกระแสเงินสด (รายรับ-รายจ่าย) แล้วคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ข้อมูลสำหรับการประเมินได้จากการประมาณการปริมาตรไม้ยืนต้นบนแปลงที่ประเมิน มูลค่าตามอายุไม้ที่สามารถตัดไปทำประโยชน์ได้ เป็นต้น

 

สำหรับผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  คลิกที่นี้ 

 

ไม้ยืนต้นที่กำหนดตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า ประกอบด้วย

ไม้สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควาย สาธร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง พะยอม ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา) สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง นนทรี สัตบรรณ ตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ ตะแบกนา เสลา อินทนิลน้ำ ตะแบกเลือด นากบุด

 

ไม้สกุลจำปี (จำปีสิรินธร จำปีป่า จำปีถิ่นไทย  จำปีดง จำปีแขก  จำปีเพชร ) แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดียาธร มะหาด มะขามป้อม หว้า จามจุรี พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม

ชาวสวนเฮ! ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ลดปัญหาหนี้นอกระบบ

logoline