svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

โควิดฉุดบริโภคสินค้าเกษตรสูญ 1.38 หมื่นล้าน

10 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงเกษตรฯ เปิดสำรวจผลกระทบล็อกดาวน์ 5 เดือน ทำการบริโภคสินค้าเกษตรลด 1.39 หมื่นล้านบาท ชี้ สวนผักเสียหายมากสุด รองลงมาผลไม้ ข้าว ประมง สัตว์ปีก

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ฉันทานนท์ วรรณเขจร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุ  สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามในครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงและน่าจะยืดเยื้อ ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลกระทบโควิด-19 พบว่าภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วง 5 เดือน (เม.ย.-ส.ค.) 2564 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจการเกษตรในส่วนของการโภคสินค้าเกษตรในประเทศลดลงรวมทั้งสิ้น 13,895 ล้านบาท เป็นผลจากการล็อกดาวน์ และการควบคุมพื้นที่จำกัดการเปิดร้านค้า และร้านอาหารต่างๆ แต่ผลกระทบจากโควิดในภาคเกษตรก็ยังน้อยกว่ากระทบภาคอุตสาหกรรมอื่นๆที่มีความสูญเสียมากกว่า
 

สำหรับ ผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อสาขาการผลิตทางการเกษตร 5 อันดับแรก (กรณี 5 เดือน) พบว่า สาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การทำสวนผัก มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 3,049 ล้านบาท รองลงมา คือ การทำสวนผลไม้ มูลค่าลดลง 2,061 ล้านบาท การทำนา มูลค่าลดลง 2,038 ล้านบาท การประมงทะเลและการประมงชายฝั่ง มูลค่าลดลง 1,007 ล้านบาท และการเลี้ยงสัตว์ปีก มูลค่าลดลง 908 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากโครงสร้างการบริโภคของประเทศไทย มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภค ผัก ผลไม้ และข้าว มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้โควิด-19 จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่การส่งออกสินค้าเกษตรไทย ยังขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า จึงเป็นอีกแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ โดยเมื่อพิจารณาถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) พบว่า มีมูลค่าอยู่ที่ 716,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 669,079 ล้านบาท หรือเพิ่ม 7.1% 
 

สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สำคัญที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ สับปะรดและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้ ตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ ในอีกมุมหนึ่งภาคเกษตรยังเป็นภาคสำคัญที่รองรับการย้ายคืนถิ่นในช่วงการระบาดโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมือง และความรู้และเทคโนโลยี จึงถือเป็นการสร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรและเร่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้เกิดขึ้นจริงได้ เพราะกลุ่มแรงงานคืนถิ่นรุ่นใหม่กลุ่มนี้ จะเพื่อเป็นกำลังสำคัญทั้งการสร้างมูลค่าใหม่ทางการเกษตร รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ

logoline