svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

ลงพื้นที่ตรวจสอบวัวติดโรคลัมปีสกิน หวั่นเกิดการแพร่ระบาด

09 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายสัตวแพทย์ฯลงพื้นที่ตรวจสอบโคติดโรคลัมปีสกิน หวั่นเกิดการแพร่ระบาด แนะเกษตรกรป้องกัน และลงทะเบียน หากโคกระบือตายจะได้รับการเยียวยา

9 สิงหาคม 2564 นายสัตวแพทย์ทนงศักดิ์ ทองจันทร์  สัตวแพทย์ชำนาญงาน ประจำสำนักงานปศุสัตว์ จ.เพชรบูรณ์ พร้อมทีมงาน ได้รับมอบหมายจากนายสุชาติ  มูลสวัสดิ์ ปศุสัตว์จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในวัวหรือกระบือ ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 16 ต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ จึงเดินทางไปที่คอกเลี้ยงวังของนายชูชาติ อ่อนศรี เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว หมู่ที่ 16 ต.ป่าเลา พบวัวจำนวน 3 ตัว โดย 2 ใน 3 ตัวเริ่มป่วยเป็นโรคลัมปีสกินเมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตามลำตัวของวัวพบมีตุ่มขึ้นเต็ม ซึ่งนายชูชาติแจ้งว่า พื้นที่โดยรอบของหมู่ 16 ต.ป่าเลานั้น มีประชาชนเลี้ยงวัวกันเกือบทุกหลังคาเรือนจำนวนกว่า 30 ตัว เกรงว่าจะเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง โดยนายสัตวแพทย์ทนงศักดิ์หลังตรวจวัวดังกล่าวแล้วได้ฉีดยาแก้อักเสบ ยาแก้ไข และยากันแมลงให้วัวที่ป่วยเป็นโรค นอกจากนี้ยังมีการฉีดพ่นน้ำยากันแมลงให้ตามคอกสัตว์ของเกษตรกรอีกด้วย

ลงพื้นที่ตรวจสอบวัวติดโรคลัมปีสกิน หวั่นเกิดการแพร่ระบาด

นายสัตวแพทย์ทนงศักดิ์ ทองจันทร์  กล่าวว่า  โรคลัมปีสกินเป็นโรคอุบัติใหม่ในโคกระบือ พบระบาดจากประเทศเพื่อนบ้าน มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยสัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือก อัตราการป่วยอยู่ที่ 5-45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ปัจจุบันพบอ.ศรีเทพ,วิเชียรบุรี, บึงสามพัน โคกระบือเป็นโรคลัมปีสกินในโคกระบือค่อนข้างมาก
 

ลงพื้นที่ตรวจสอบวัวติดโรคลัมปีสกิน หวั่นเกิดการแพร่ระบาด

"ส่วนการป้องกันโรคลัมปีสกินในโคกระบือ ต้องกำจัดแมลงพาหะนำโรค ด้วยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่น และสำหรับสัตว์ทุกตัวในฝูง ปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่ง ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำหรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่ และกางมุ้งให้แก่สัตว์เพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด"นายสัตวแพทย์ทนงศักดิ์กล่าวพร้อมแนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวหรือโคกระบือโดยให้ไปติดต่อขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ เพื่อโคกระบือที่เลี้ยงจะได้รับการวัคซีนป้องกัน  หากโคกระบือตายยังได้รับการเยียวยาอีกด้วย 

โดย - สุนทร คงวราคม

logoline