svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้าแล้ว 57,000 คน

08 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สธ.เปิดข้อมูล 4-7 ส.ค.ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้าแล้ว 57,000 คน พร้อมเฝ้าระวังภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ - เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี หลังพบสหรัฐฯ รายงานข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ 1,226 คน จากวัคซีน 300 ล้านโดส

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ให้บุคลากรด่านหน้า ว่า บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น ตั้งแต่วันที่ 4-7 ส.ค.แล้วกว่า 57,000 คน 

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ฉีดเพิ่มขึ้น 11,000 คน หลัง สธ.ทยอยจัดส่งไปยัง 170 โรงพยาบาล ใน 77 จังหวัด

โดยสธ.จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ ไปให้โรงพยาบาลแล้วประมาณ 446,000 โดส จากโควตา 700,000 โดส ยังเหลืออยู่อีกกว่า 250,000 โดส ซึ่งจะทยอยจัดส่งต่อไป 

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์นั้นจะกระจายไปยัง 13 จังหวัดสีแดงเข้มก่อน ในล็อตนี้ และจะส่งเพิ่มไปอีก 16 จังหวัดสีแดงเข็มในล็อตต่อไป ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ไม่มีวัคซีน VIP เพราะเป็นการจัดสรรของโรงพยาบาลในการฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงก่อน ซึ่งโรงพยาบาลจะมีข้อมูลคนไข้อยู่แล้ว โดยเน้นผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง รวมถึงหญิงมีครรภ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

สาเหตุที่ไม่ส่งไปทั้งหมด เนื่องจากอาจพบว่าโรงพยาบาลบางแห่งได้วัคซีนเกิน บางแห่งได้ขาด รวมทั้งอายุของวัคซีนต้องฉีดให้เสร็จภายใน 31 วัน

ด้านอาการหลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เท่าที่พบรายงาน มีเพียงอาการปวด บวม ร้อน ไม่รุนแรง แต่ในต่างประเทศมีการศึกษาและเก็บข้อมูลพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) ของข้อมูลของศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC)

ขณะที่อาการหลังการฉีดของบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าในประเทศไทย นั้น พบว่า ใน 57,000 คน มีผู้ที่อยู่ในวัยต้องเฝ้าระวังหรืออายุน้อยกว่า 30 ปี ประมาณ 60% แต่ยังไม่มีข้อมูลที่บันทึกในหมอพร้อมเกี่ยวกับความผิดปกติ และข้อมูลจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเช่นกัน 

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบนั้น จะรักษาโดยสังเกตอาการ ประคับประคอง และให้ยาตามอาการ ซึ่งจะอยู่ในการดูแลของแพทย์โรคหัวใจ ยืนยันว่า รักษาได้ และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต

จากการเก็บข้อมูลภาวะไม่ถึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 ในสหรัฐฯ พบว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี พบมากในช่วงอายุ 16 - 18 ปี และพบว่ามีอาการภายใน 5 วันหลังฉีดวัคซีน 

รายงานอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าาว จำนวน 1,226 คน จากวัคซีน 300 ล้านโดส หรือประมาณ 4 คน ต่อ 1 ล้านโดส ซึ่งถือว่าเป็นภาวะไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อยมาก และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต

ผู้หญิง อายุ 12-17 ปี คาดว่าจะพบภาวะดังกล่าว 0-2 คน แต่พบจริง 19 คน ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ 10 เท่า ส่วนผู้ชาย อายุ 12-17 ปี คาดว่าจะพบ 0-4 แต่พบ 128 มากกว่าที่คาด 30 เท่า หมายความว่า จะพบภาวะนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้ชายมีโอกาสพบในอายุที่สูงกว่าผู้หญิงด้วย

logoline