svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

โซเชียลโวย ศบค. ให้เปิดร้านอาหารในห้างแต่ซื้อกลับบ้านเองไม่ได้

02 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาวโซเชียลโวยลั่นนโยบายอิหยังวะ หลัง ศบค. ให้เปิดร้านอาหารในห้างแต่ซื้อกลับบ้านเองไม่ได้ ต้องสั่งผ่าน Delivery เท่านั้น ด้านสมาคมที่รับผิดชอบขอดูสถานการณ์ 5-7 วันก่อน เคลื่อนไหวว่าจดำเนินการอย่างไรต่อไป

ประเด็นร้อนหลัง ศบค. ประกาศเพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เป็น 29 จังหวัด และผ่อนผันให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า เปิดดำเนินการได้ แต่ให้จำหน่ายในรูปแบบสั่งบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้น ทำเอาผู้คนในโซเชียลพากันวิจารณ์แนวทางปฏิบัติดังกล่าวกันอย่างมาก บางส่วนถึงกับแซวว่าเป็นนโยบาย “อิหยังวะ” เพราะไม่มีความชัดเจน หรือสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้

ถึงขนาดมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะต้องทำตัวอย่างไร เมื่อออกไปซื้อสินค้าจำเป็นที่ Supermarket ในห้าง แล้วเกิดอยากซื้ออาหารที่ร้านอาหารในห้างมารับประทาน ซึ่งแนวทางปฏิบัติมีอยู่ 3 ทางเลือก

  1. ยืนรอหน้าร้าน กดแอป เพื่อให้ไรเดอร์ไปหยิบอาหารมาให้
  2. กลับบ้าน กดแอป ให้ไรเดอร์ขับมาส่งที่บ้าน
  3. สมัครเป็นไรเดอร์ ได้เสื้อ ใส่เสื้อไรเดอร์ รับอาหารหน้าร้าน ด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าเราซื้อของใน Supermarket เสร็จ อยากซื้อชานมไข่มุก 1 แก้ว จากร้านในห้าง เราจะเรียกซื้อไม่ได้ ต้องรอกดแอปให้ไรเดอร์มาหยิบให้ และตามมาด้วยคำถามว่า ไรเดอร์มาซื้อกับผู้บริโภคมาซื้อต่างกันตรงไหน หรือเจ้าของห้างมีหุ้นในบริษัทไรเดอร์

ประกาศเผยแพร่ในข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายพงค์พิชญา (ขอสงวนนามสกุล) ไรเดอร์รายหนึ่ง ระบุว่า หลังมีประกาศดังกล่าวจาก ศบค. เชื่อว่า จะงานเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า มีร้านอาหารบางประเภทมีจำหน่ายเฉพาะในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของบรรดาไรเดอร์ ส่วนฟีดแบล็กจากลูกค้าตอนนี้ยังไม่มี เพราะบางส่วนยังคงมีความกังวลกับการเดินทางออกมานอกที่อยู่อาศัย จึงจำเป็นต้องสั่งอาหารผ่านบริการ Delivery อยู่ รวมถึงยังต้องเสียค่าบริการจากผู้ให้บริการตามปกติ แต่ประเด็นที่น่าจับตาคือ บรรดาร้านอาหารที่ให้บริการ Delivery ผ่านไรเดอร์นั้น ยังมีความกังวลเรื่องการเก็บค่า GP ร้านค้าจากทางบริษัทที่รับ Delivery เพราะยิ่งหากมียอดขายมาก ค่า GP ก็จะยิ่งสูงตามด้วย ยกเว้นผู้ให้บริการบางรายที่ไม่ยังไม่คิดค่า GP แต่ก็มีปัญหาจำนวนไรเดอร์ที่ยังมีไม่มากนัก

ภาพไรเดอร์รอรับอาหารภายในห้างสรรพสินค้า

“ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย ระบุว่า กรณี ศบค. ผ่อนผันให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าขายผ่านเฉพาะ Delivery นั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจเจตนารมณ์ของ ศบค. ก่อนว่า ต้องการพยายามควบคุมการระบาดของโรคและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นการงดการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้บริโภคจำนวนหลายคนนั้น  อาจสร้างความไม่สะดวกแก่ประชาชน เพราะปกติคนไทยจะทำอะไรแบบสบายๆ การใช้ยาแรงเพื่อแก้ปัญหาแบบอู่ฮั่นโมเดลคงไม่สามารถทำได้

ส่วนกรณีข้อกังวลว่า การสั่งซื้อผ่านบริการ Delivery แม้จะสามารถเลี่ยงการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้บริโภคจำนวนหลายคนได้ แต่อาหารยังต้องผ่านหลายมือกว่าจะถึงผู้บริโภค และยังเกิดกรณีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากไรเดอร์นั้น ส่วนตัวมองว่าบริษัทผู้ให้บริการ Delivery ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ไรเดอร์ให้ครบเพื่อความปลอดภัยของลูกค้า และน่าจะสามารถได้ไม่ยากเพราะเจ้าของห้างสรรพสินค้าหลายแห่งก็มีหุ้นอยู่ในบริษัท Delivery เหล่านั้นด้วย

"ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ศบค. เป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่ไม่ได้เข้ามาคลุกคลี หรือรับรู้ถึงปัญหาข้อเท็จจริงของผู้ประกอบการว่าเป็นอย่างไร ซึ่งนับตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบร้านอาหารจำนวนมากได้รับเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า และเป็นกลุ่มท้ายๆ จะได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นพวกคนมีเงินไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง แต่ความเป็นจริงร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าหลายรายเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก  ทางสมาคมภัตตาคารไทยจึงได้พยายามหาทางช่วยเหลือมาโดยตลอด เช่น ประสานไปยัง ศบค. จนได้รับการช่วยเหลือและผ่อนปรนผ่านมาตรการต่างๆ มาตามลำดับ  และต้องถือว่าการเปิดให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดจำหน่ายได้นั้น ถือเป็นการเปิดช่องทางรอดให้แก่ผู้ประกอบการ แต่ทางรอดอีกทางคือมาตรการจาก ศบศ. ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ เช่น มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ หรือลดค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ซึ่งทั้งสองหน่วยงานควรจะทำงานควบคู่ขนานกันไป"

รายงานแจ้งว่า สำหรับการเปิดให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าจำหน่ายสินค้าผ่านทางบริการ Delivery อย่างเดียวนั้น ทางสมาคมภัตตาคารไทย และผู้ที่ดูแลโดยตรงอย่างสมาคมค้าปลีกและสมาคมห้างสรรพสินค้า อยู่ระหว่างการจับตา 5-7 วัน ว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง ก่อนจะทำหนังสือถึง ศบค. เพื่อพิจารณาดำเนินการหรือให้ความช่วยเหลือต่อไป

“ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย

logoline