svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ทวี สอดส่องเปิดบทบาทกยศ.ควรงดฟ้องคดี-บังคับคดี ในช่วงวิฤตโควิด-19

27 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เปิดบทบาทกยศ.ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ควรงดเว้นการฟ้องคดี-บังคับคดี พักการชำระหนี้ งดเว้นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้กับทุกกลุ่ม

วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความว่า “บทบาท กยศ. ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19” ควรงดเว้นการฟ้องคดี-การบังคับคดี พักการชำระหนี้ งดเว้นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นกองทุนที่รวมสินทรัพย์349,521 ล้านบาทเศษ ในรอบปี 2563 มีค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 11,813 ล้านบาทเศษ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการระงับหนี้และหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 10,084 ล้านบาทเศษ

จากการตรวจสอบทราบว่า กยศ. ได้ใช้จ่ายเงินกองทุนว่าจ้างสำนักทนายความฟ้องหรือดำเนินคดีและบังคับคดีกับผู้กู้ กยศ. แยกเป็น

  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี คดีละ 5,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 8,250 ล้านบาท
  • ค่าบริหารจัดการคดีละประมาณ 1,200 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 1,800 ล้านบาท
  • ค่าใช้บังคับคดีนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณคดีละ 8,750 บาท รวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 4,702 ล้านบาท

การฟ้องร้อง การบังคับคดี การยึดทรัพย์ขายทอดตลาดจึงเป็นเรื่องที่ขัดเจตนารมณ์ของกองทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา เพื่อต้องการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่ขาดแคลนให้ได้มีการศึกษาที่ทัดเทียม เพื่อมาพัฒนาบ้านเมืองและประเทศชาติและหลักสิทธิมนุษยชนเรื่องการศึกษาที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคี การศึกษาต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่มอบให้กับทุกคน แบบให้เปล่าเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้กู้ยืมมีระยะเวลาจ่ายคืน 15 ปี โดยจะต้องเริ่มจ่ายคืน 2 ปีหลังจากจบการศึกษา และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เดิมอยู่ที่ 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปี แม้ กยศ. จะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะอยู่ที่เพียง 1% (ตาม พ.ร.บ.กยศ. ปี 2560 สามารถคิดได้ไม่เกิน 7.5%) ลำดับการชำระหนี้ คือ ชำระดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยตามสัญญา และชำระเงินต้นกู้ยืม ทำให้เมื่อลูกหนี้มีการค้างชำระหลายงวด เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ และดอกเบี้ยเงินกู้ยืมก่อน โดยไม่ตัดถึงเงินต้นเลย หลายงวดเข้าเมื่อลูกหนี้ไม่เห็นความคืบหน้ามีความท้อถอยจะเลิกจ่าย จะเห็นจากคำฟ้องของ กยศ. ต่อลูกหนี้ จะมีเบี้ยปรับสูงกับเงินต้น เช่น มียอดสูงถึง 500,000 - 600,000 บาท ทั้งที่ลูกหนี้ได้ชำระเงินเข้าไปในกองทุนฯ แต่เงินต้นแทบไม่ลดเลย

จากข้อมูลการบังคับคดี พบว่าได้มีการยึดทรัพย์-อายัดทรัพย์แล้ว จำนวน 59,642 คดี รวมเงินต้นที่กู้ ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ 6,815 ล้านบาทเศษ แต่กรมบังคับคดีได้ยึดทรัพย์และมีทรัพย์ขายทอดตลาดจริงเพียง จำนวน 2,657 คดี คิดเป็นจำนวนเงินที่ได้คืนมาจริงเพียง 218 ล้านบาทเท่านั้น เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมากมายขนาดนี้ แต่กลับได้เงินคืนมาเพียงเท่านี้ เงินค่าจ้างทนายดำเนินคดีที่ว่าจ้าง เป็นเงินในกองทุน กยศ. มาจากภาษีอากรของประชาชน ถือว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”

กยศ.ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ช่วงโควิด-19 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 64 ช่วยเหลือเพียงกลุ่มที่ไม่ถูกบังคับคดี ผ่อนชำระหนี้โดยให้ทำการปรับโครงสร้างโดยมีเงื่อนไขกาขยายระยะเวลาผ่อนสูงสุด 30 ปี และการชำระหนี้งวดสุดท้ายผู้กู้ต้องอายุไม่เกิน 65 ปี ส่วนผู้ที่อยู่ในชั้นบังคับคดีไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จำนวน 1.2 ล้านราน คิดเป็น 54% ของผู้กู้ยืมทั้งหมด กยศ. อ้างว่า "ลูกหนี้ต้องผูกพันธ์ตามคำพิพากษา" เห็นว่า“การบังคับหนี้นั้นเป็นสิทธิ์ของเจ้าหนี้ หากเจ้าหนี้ยินยอมผ่อนปรนก็สามารถกระทำได้” 

 

ดังเช่น กรณีที่มีการลดหย่อนไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี เป็นต้น คำกล่าวที่ว่า “การศึกษา สร้างคน คนสร้างชาติ” แต่ พรบ. กยศ. พ.ศ. 2560 ที่แก้ไขยกเลิก พรบ. กยศ. พ.ศ.2541 พบว่า เปลี่ยนแปลงหลักคิดและปรัชญาเดิม “มุ่งเชิงพาณิชย์และธุรกิจมากขึ้น” อาทิ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1 เป็น ร้อยละ 7.5 ได้ให้ อำนาจนายจ้างดำเนินการหักเงินเดือนจากลูกจ้างที่เป็นหนี้ กยศ.ได้เมื่อกองทุนได้แจ้งไป ให้อำนาจ กยศ. เข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกหนี้ได้ และกองทุน กยศ. มี “บุริมสิทธิ” คือ หลังจากหักไปจ่ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม แล้วต้องจ่ายหนี้ กยศ. ก่อน เจ้าหนี้รายอื่น เป็นต้น

จากวิกฤติการผลกระทบจากโควิด 19 ที่เริ่มปลายปี 2562 และต้นปี 2563 ส่งผลต่อเนื่องติดต่อมาถึงปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่มีท่าทีจะคืนสู่ปกติ ทำให้นักเรียน นักศึกษาที่กู้ยืมเงิน กยศ. ที่จบใหม่จะหางานทำไม่ได้ จะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น จึงมีข้อเสนอแนะ ควรหยุดการฟ้องคดี-การบังคับคดี พักการชำระหนี้ งดเว้นดอกเบี้ย และ ยกเลิกเบี้ยปรับ รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ทุกกลุ่มที่มีกระบวนการ หลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนอย่างเหมาะสม รวมทั้งเร่งรัดแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.กยศ. พ.ศ.2561 ใหม่ 

พรรคการประชาชาติ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่....) ตามร่างที่แนบมา) คือ การกู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ยหรือไม่มีดอกเบี้ย ชำระคืนเฉพาะเงินต้น ไม่มีเบี้ยปรับ ผู้ไม่มีเงินชำระสามารถทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ย ผู้กู้ยืมที่สำเร็จการศึกษาคณะหรือสาขาที่รัฐ(กระทรวงศึกษา)กำหนดให้แปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาส่วนที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาแทนและไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในส่วนที่ค้างชำระดังกล่าวคืน 

logoline