svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

EIC คาดศก.ปีนี้ โต 0.9% เหตุ โควิด-19ลามหนัก ชี้ รัฐเยียวยายังไม่เพียงพอ

23 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2021 เหลือ 0.9% จากเดิม 1.9% เหตุ วิกฤตการระบาด COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายตัวในวงกว้าง ระบุ มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐยังไม่พอใน 3 มิติ แนะ เร่งรัด มาตรการด้านสาธารณสุข และเยียวยาพร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจ

วันนี้ (23 ก.ค.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(21 ก.ค.) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานว่า ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2021 เหลือโต 0.9% (เดิมคาด 1.9%) จากภาวะวิกฤตของการระบาด COVID-19 ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายตัวในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก ทั้งจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น (ล็อกดาวน์) ความกังวลของประชาชนในการใช้จ่ายภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น (Fear Factor) และแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น (Scarring) ขณะที่เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ออกมายังไม่เพียงพอและทั่วถึง จึงช่วยบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่ปรับแย่ลงจะทำให้แผลเป็นเศรษฐกิจลึกขึ้น ประกอบไปด้วย พลวัตธุรกิจที่อ่อนแอ ตลาดแรงงานที่เปราะบาง และภาวะหนี้สูงของครัวเรือน การระบาดที่ยาวนานขึ้นจะส่งผลให้ 3 แผลเป็นสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มซบเซามากขึ้นกว่าเดิม

 

EIC ยังได้กล่าวถึงภาคท่องเที่ยวยังซบเซาต่อเนื่อง แม้จะมีการเปิด Phuket Sandbox เนื่องจากหลายประเทศยังมีนโยบายรัดกุมในการเดินทางเข้าออกประเทศ รวมถึงสถานการณ์ในไทยที่ปรับแย่ลง ประกอบกับความเข้มงวดของนโยบายเดินทางเข้าออกในหลายประเทศ คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2021 เหลือ 3 แสนคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4 แสนคน โดยการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการนำร่องอย่าง Phuket Sandbox และ Samui plus จะมีข้อดีด้านการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในระยะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องของกระบวนการตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยว การจัดทำ vaccine passport และการสร้างความพร้อมของภาคธุรกิจในการฟื้นฟูเปิดกิจการรองรับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี การเปิดรับนักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาได้มากนักในปีนี้

 

ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐยังไม่พอ ทั้งในเชิงพื้นที่ ระยะเวลา และเม็ดเงิน มาตรการล่าสุดของภาครัฐที่ออกมาหลังการระบาดระลอก 3 มีเพียง 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย มาตรการขยายวงเงินเราชนะและเรารักกัน การให้เงินผู้ถือบัตรสวัสดิการ ลดค่าน้ำค่าไฟ คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ และมาตรการล่าสุดในการชดเชยรายได้ของผู้ประกอบการและลูกจ้างในจังหวัดที่โดนมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่ง EIC ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอใน 3 มิติ ได้แก่

1. ไม่พอด้านระยะเวลา – โดยมาตรการที่ชดเชยความเสียหายจากการล็อกดาวน์โดยตรง ได้แก่ การชดเชยรายได้ของผู้ประกอบการและลูกจ้างที่มีระยะเวลาแค่ 1 เดือน (กรกฎาคม) เท่านั้น จึงไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะผลกระทบมีแนวโน้มลากยาวมากกว่า 1 เดือนตามที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า

2. ไม่พอด้านพื้นที่ – ปัจจุบัน ภาครัฐเลือกที่ชดเชยเพียง 10 จังหวัด อย่างไรก็ดี สถานการณ์ระบาดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั่วทั้งประเทศ ดังจะเห็นได้จากดัชนี Facebook Movement Range (รูปที่ 10) ที่จังหวัดอื่นนอกจากที่โดนประกาศล็อกดาวน์ก็ปรับตัวลดลงตามกันมา เนื่องจากการแพร่ระบาดทำให้ประชาชนมีความกังวลและต้องลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปโดยปริยาย

3. ไม่พอด้านเม็ดเงิน – อย่างที่ได้กล่าวในช่วงก่อนว่าภาครัฐมีมาตรการหลังการระบาดรอบ 3 รวมเพียง 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งไม่พอต่อความเสียหายที่ EIC ประเมินไว้กว่า 7.7 แสนล้านบาท และหากเปรียบเทียบกับการระบาดรอบ 2 ในช่วงต้นปี ซึ่งมีเม็ดเงินประคองเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งที่การระบาดมีความรุนแรงน้อยกว่าและสั้นกว่ามาก จึงกล่าวได้ว่ามาตรการที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอด้านเม็ดเงิน นอกจากนี้ หากพิจารณาโดยทำการคำนวณรายได้กรณีได้รับความช่วยเหลือของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ม.33 (ได้รับการเยียวยา 50% ของรายได้ และเงินช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อราย รวมกันไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย) และนำมาเทียบกับข้อมูลรายได้ปกติของแรงงานแต่ละกลุ่มจะพบว่า จำนวนเงินที่ได้รับจากการเยียวยาดังกล่าวน้อยกว่ารายได้ปกติที่ลูกจ้างกลุ่มนี้ได้รับอย่างมีนัยสำคัญถึงราว 40% โดยเฉลี่ย

 

EIC ได้เสนอว่า มาตรการที่ภาครัฐควรเร่งรัด ได้แก่ 1. มาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง การเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเพื่อแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ ตลอดจนการจัดหายา อุปกรณ์การแพทย์  สถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น ในประเด็นการกระจายวัคซีน นอกเหนือจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ แล้ว ภาครัฐควรจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมให้เพียงพอด้วย

 

2. มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ นอกจากเม็ดเงินเยียวยาที่ตรงจุด เพียงพอ และขยายเวลาออกไปอย่างน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งการระบาดน่าจะยังอยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยประคับประคองการใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องและการจ้างงานของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการว่างงาน

 

บทวิเคราะห์จาก... https://www.scbeic.com/th/detail/product/7700

 

logoline