svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผงะ! ศบค.เผย ถ้าไม่ทำอะไรเลยยอดผู้ติดเชื้อทะลุเกิน 3 หมื่นต่อวัน

19 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศบค. เผย ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะมีการติดเชื้อถึง 31,997 รายต่อวัน ถ้าทำได้ดีที่สุดจะอยู่ที่ 9,018-12,605 รายต่อวัน ส่วนสถานประกอบการรวมถึงตลาด เปิดไม่เกิน 2 ทุ่ม ห้ามนั่งทานที่ร้าน ถ้ายังมีการติดเชื้อสูงให้ผู้ว่าฯพิจารณาปิดได้ จำกัดผู้โดยสารและขนส่งเหลือร้อยละ 50

วันนี้ (19 ก.ค.) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศบค. เปิดเผยว่า ในที่ประชุมมีการพูดคุยถึงผลการคาดการณ์ความเป็นไปได้ของการติดเชื้อในประเทศไทยจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้ข้อมูลถึงวันที่ 17 ก.ค. คาดการณ์เหตุการณ์แย่ที่สุดหากไม่ทำอะไรเลยจะมีการติดเชื้อถึง 31,997 รายต่อวัน หากทำให้ดีที่สุดจะมีผู้ป่วยอยู่ที่ 9,018-12,605 รายต่อวัน และค่ากลาง 9,695-24,204 รายต่อวัน หากมาตรการเกิดขึ้นโดยเร็วทุกคนร่วมมือค่ากลางที่เป็นค่าล่างก็ยังสูงอยู่ รวมถึงมีการศึกษาจากธนาคารกรุงศรีฯที่ WHO ได้นำผลศึกษาไปอ้างอิงคาดการณ์การฉีดวัคซีนถึงปลายปี หากฉีดวัคซีนได้ดีเคสที่ดีที่สุดจะลงในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งปัจจุบันตัวเลขผู้ป่วยยังสูงที่ 15,000 ราย ถึงช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และหากแย่ที่สุดตัวเลขจะสูงถึง 22,000 ราย ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนและจะลงมาในช่วงเดือนตุลาคม หากฉีดวัคซีนได้ตามที่กำหนดในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงการฉายภาพคาดการณ์ 

 

ส่วนมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ยังคงเดิมคือให้ซื้อกลับบ้าน และขายได้ถึง 20.00 น. ในส่วนของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดบริการได้เฉพาะแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกยา และเวชภัณฑ์ พื้นที่จัดให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆของภาครัฐ ให้เปิดดำเนินการได้จนถึง 20.00 น. โรงแรมให้เปิดดำเนินการได้ตามปกติ โดยให้งดกิจกรรมการประชุมสัมมนาหรือจัดเลี้ยง ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อ ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงกลางคืน โดยให้ปิดบริการระหว่างเวลา 20.00 - 04.00 น. และโรงเรียนสถาบันการศึกษาหรืออบรมและสถานศึกษาต่างๆให้ปฎิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้ขอให้แต่ละจังหวัด ดูในร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด และพื้นที่ต่างๆเหล่านี้ หากมีการติดเชื้อสูงขึ้น ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ขอให้จังหวัดพิจารณาสั่งปิดได้ตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีข้อสรุปเพิ่มในส่วนของโรงพยาบาล สถานพยาบาลคลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงานธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจการเงิน และธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ จำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส รวมทั้งบริการส่งสินค้าอาหารตามสั่ง ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็นโดยผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด และการห้ามจัดกิจจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง  การรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน ส่วนการอบรมสัมมนาของภาครัฐ ขอให้เป็นการประชุมโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก 100 % และรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เคยอนุญาต ให้จัดกิจกรรมได้ตามข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ต้องทบทวนใหม่ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ ให้ผู้รับผิดชอบจัดกิจการดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการที่เข้มข้นขึ้น

 

ในส่วนของการขนส่งสาธารณะ กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ กำกับการบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะทุกประเภท ระหว่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักร โดยการจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 50 ของความจุผู้โดยสาร สำหรับยานพาหนะแต่ละประเภท ทั้งนี้ในส่วนจังหวัดที่นอกเหนือ 13 จังหวัดนั้น สามารถเดินทางไปมาหาสู่ได้ แต่ต้องลดพื้นที่ในการขนส่งลงไปเป็นร้อยละ 50 และขณะนี้ได้ทราบจากสำนักงานการบินพลเรือน ได้ขอความร่วมมือไปยังสายการบินทั้งหลายที่ใช้พื้นที่จากสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ให้งดเที่ยวบินจากกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม

 

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2564  ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 54 ของโลก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 11,784 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 11,684 ราย ผู้ป่วยในเรือนจำ 100 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 415,170 ราย รักษาอยู่ 122,097 ราย รักษาในโรงพยาบาล 71,635 ราย และโรงพยาบาลสนาม 50,462  ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก  3,595 ราย และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 856 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 289,651 ราย หายเพิ่ม 5,741 ราย เสียชีวิตใหม่ 81 ราย รวมเสียชีวิต 3,422 คน

 

ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 11,674 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine  10 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุก/โรงงานและในชุมชน 2,677 ราย ค้นหาเชิงรุกในเรือนจำ 100 ราย และเข้าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 8,997 ราย

 

ด้านยอดการฉีดวัคซีนในประเทศไทยรวม 14,298,596 โดส สะสมแบ่งเป็นฉีดวัคซีนเข็มแรก 10,850,099 โดส เพิ่มขึ้น 69,667 โดส และเข็มที่สองจำนวน 3,448,497 โดส เพิ่มขึ้น 5,167 โดส

logoline