svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ประชาสัมพันธ์

เนชั่นทีวี จัดสัมมนาออนไลน์ ร่วมถกหาทางออก “วัคซีนโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย”

15 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เนชั่นทีวี จัดสัมมนาออนไลน์รูปแบบ Virtual Forum ร่วมถกหาทางออก “วัคซีนโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย” ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติและถอดรหัสวัคซีน” ซึ่งวัคซีนถือเป็นตัวแปรสำคัญในการเปิดประเทศ

เนชั่นทีวีจัดสัมมนาออนไลน์รูปแบบ Virtual Forum ร่วมถกหาทางออก “วัคซีนโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย”ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ และถอดรหัสวัคซีน” โดยมีนักวิชาการ วิทยากร ผู้มากประสบการณ์มาร่วมเสวนาในครั้งนี้

 

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผอ.สถาบัน​บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เสนอแนะให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็วและมากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อให้เกิดกิจกรรมในพื้นที่ก่อน เนื่องจากกรุงเทพเป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญ พร้อมแนะนำให้นำพรก .เงินกู้โควิด 1 ล้านล้านบาท มาซื้อวัคซีนจะดีกว่า เนื่องจากหากวัคซีนไม่พร้อม ต้องใช้เงินเยียวยาเพิ่ม และต้องกู้เพิ่ม ดังนั้นควรบริการจัดการให้ดี ซึ่งหากสร้างภูมิให้ได้ 70% จะทำให้เปิดประเทศได้ ใช้เงินเยียวน้อยลง รัฐควรจัดลำดับการใช้เม็ดเงินให้ดี และเร่งกระจายฉีดวัคซีน มิเช่นนั้นจะกลายเป็นเอาเงินมาเยียวยาอย่างเดียว ไม่มีเงินฟื้นฟู หากทำได้คาดว่าครึ่งหลัง ปี 2566 เศรษฐกิจน่าจะกลับมา ทั้งนี้ถือว่าวัคซีนเป็นตัวแปรสำคัญในการเปิดประเทศ ประกอบกับการสื่อสารที่ชัดเจน ไม่ทำให้ประชาชนสับสนของภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ

 

ด้าน ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณวัคซีนยังเป็นปัญหาอยู่  รัฐบาลควรบริหารจัดการวัคซีนที่มีจำกัดให้ดีกว่านี้  ควรกระจายวัคซีนไปยังชุมชนที่หนาแน่นก่อน เพราะวัคซีนจะทยอยมา ไม่สามารถมาพร้อมกันทีเดียว ดังนั้นต้องประเมินความเสี่ยงและอธิบายกับประชาชนได้

 

ขณะที่การคิดค้นยาต้านและป้องกันไวรัส การตรวจง่ายและเร็ว ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ทำอย่างไรให้อยู่กับไวรัสตัวนี้ได้ในอนาคต คล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงเรื่อง Medical security ควรให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ประเทศไทยจะทำอย่างไรให้ผลิตวัคซีนได้ถ้าจำเป็น โดยไม่ต้องพึ่งต่างประเทศในระยาว เพราะจะมีโรคระบาดในลักษณะนี้เกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

 

ดร.สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า การให้ความสำคัญในเรื่อง Booster เข็มสาม โดยเฉพาะบุคคลากรการแพทย์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นด่านหน้าและมีความเสี่ยงมากที่สุด รวมถึงการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านการแพทย์

 

ส่วนเรื่องการจัดสรรวัคซีน ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เราเป็นฐานการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าให้กับชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยมีแนวทางจัดหา 3 แนวทาง คู่ขนานกันไป ประกอบด้วย การวิจัยพัฒนาภายในประเทศ การทำความร่วมมือวิจัยกับตปท.โดยได้รับจัดสรรงบประมาณงบกลาง รวม 1,000 ล้านบาท และการจัดซื้อจัดหานำมาใช้ในประเทศ โดยมีเป้าหมายจัดหา 100 ล้านโดส ส่วนการวิจัยวัคซีนที่ไทยวิจัยได้เอง คงต้องใช้เวลาพอสมควร  พร้อมกราบขออภัยที่ไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้เท่าทันสถานการณ์ เนื่องจากวัคซีนทั่วโลกมีจำกัด มีแค่บางประเทศที่มีวัคซีนเหลือโดยได้รับจดหมายจากบริษัทผู้ผลิตแอสตร้าเซเนก้าว่าจะสามารถส่งมอบได้ 1 ใน 3 ของการผลิตทั้งหมด ประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน และจะพยายามเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากกว่านี้ ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ กำลังจัดหาเพิ่มเติม ขณะที่วัคซีนซิโนแวคก็ยังจำเป็นต้องใช้ระหว่างรอวัคซีนชนิดอื่น

 

ทั้งนี้มติกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติจัดหาวัคซีนปี 2565 ในกรอบ 120 ล้านโดส โดยการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต การวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ สนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ได้รับวัคซีน เพื่อพิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 3 ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัสกลายพันธ์อย่างใกล้ชิด ติดตามความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนเพิ่มเติม เพื่อจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกับเด็กและหญิงตั้งครรภ์

 

ขณะที่ภาคเอกชน แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยผู้ติดเชื้อถือว่าไม่มากหากเทียบกับบางประเทศ แต่ภาครัฐกลับบริหารจัดการวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ เสียโอกาสไปมาก ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนและประชาชนต้องช่วยเหลือกันเองและช่วยเหลือสังคม เช่น ปันพื้นที่ทำรพ.สนาม รวมถึงช่วยรพ.ทั่วประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจ อาหาร ยารักษาโรค เข้าร่วมหน่วยงานภาครัฐสำหรับผู้ป่วยสีเขียว ช่วยเหลือร้านอาหารด้วยบริการเดลิเวอรี่ไม่คิดค่าส่ง เป็นต้น

logoline