svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

“ศรีสุวรรณ” จี้ ยุติธรรมสอบสภาฯผู้บริโภค ตั้งองค์กรโดยผิดกฎหมาย

14 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ศรีสุวรรณ” ยื่น ก.ยุติธรรม จี้ สอบสภาองค์กรของผู้บริโภค ตั้งองค์กรโดยผิดกฎหมาย เผย สุ่มตรวจ 16 แห่ง พบไม่มีตัวตนจริงตามที่จดแจ้ง จี้ ขยายผลสอบอีก 136 แห่ง แจง มาตรา 5 กม.จัดตั้งสภาฯผู้บริโภค ระบุ องค์กรนั้นต้องปฏิบัติหน้าที่ “เป็นที่ประจักษ์” มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ปี

วันนี้ (14 ก.ค.64) ที่กระทรวงยุติธรรม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ได้มายื่นคำร้องต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ตรวจสอบ 152 องค์กรผู้บริโภค ที่เข้าชื่อกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค มีคุณลักษณะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเป็นที่สงสัยว่าบางองค์กรอาจถูกจัดตั้งขึ้นมาลอยๆ เพื่อให้ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคหรือไม่

 

จากการสุ่มตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคตามบัญชีรายชื่อที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ประกาศในระดับจังหวัด พบว่า องค์กรผู้บริโภคที่แจ้งไว้กับทางราชการนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อเลย และเมื่อตรวจสอบเชิงลึกโดยการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน พบว่าหลายองค์กรไม่มีที่อยู่ตั้งตามที่แจ้งไว้ หรือไม่มีการทำกิจกรรมตามที่จดแจ้ง ซ้ำร้ายกว่านั้นที่อยู่ที่จดแจ้ง ในทะเบียนราษฎร์ไม่มีเลขที่นี้ในสารบบ บางองค์กรไม่มีที่ตั้ง ไม่มีคนที่อ้างว่าเป็นประธานเครือข่ายอยู่ในพื้นที่เลย อาจถือได้ว่ามีคุณลักษณะไม่เป็นไปตาม มาตรา 6 ประกอบ มาตรา 5 ของกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค จึงได้ทำบันทึก ถ่ายรูป อัดคลิปเสียงของผู้ให้ข้อมูล และนำหลักฐานทั้งหมดมามอบให้กระทรวงยุติธรรม เพื่อขยายผลสอบ 152 องค์กรต่อไป

ทั้งนี้ ตาม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ปี 2562 กำหนดไว้ว่า การที่จะใช้สิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้นั้น องค์กรผู้บริโภคนั้นๆจะต้องดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค “เป็นที่ประจักษ์” มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ปีตามที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อมีการสุ่มตรวจบางองค์กรก็พบความจริงว่ากว่า 16 องค์กร ไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ดังนั้นจึงเชื่อว่าอีก 136 องค์กรที่เหลือก็อาจมีลักษณะเดียวกันกับที่สุ่มตรวจก็ได้ และเชื่อว่ากระทรวงยุติธรรมมีศักยภาพในการตรวจสอบทุกองค์กรได้

           

นอกจากนี้ หากการสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า องค์กรใดไม่มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะตามที่กฎหมายบัญญัติ ผู้ที่ร่วมจัดตั้งและผู้ที่เข้าชื่อเสนอนายทะเบียนย่อมเข้าข่าย “แจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่รัฐ” ตาม ป.อ.มาตรา 137 ที่บัญญัติไว้ความว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

           

“สมาคมฯ จึงนำความมาร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรม เพื่อเอาผิดบุคคลและหรือองค์กรผู้บริโภคนั้น ๆ และถือเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ผ่านมาไม่สมบูรณ์ อาจถือเป็น “โมฆะ” ตามกฎหมาย การทำนิติกรรมใดๆขององค์กรดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะและจะกระทำมิได้ด้วย” นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

logoline