svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"อนุทิน" เผยมีมติเคาะฉีด "ซิโนแวค-แอสตร้า" สลับกัน ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

12 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รมว.กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ คาดยอดติดเชื้อพุ่ง 1 หมื่นคนต่อวัน ภายใน 2 สัปดาห์นี้ เบื้องต้นมีมติให้ฉีดซิโนแวคเป็นเข็ม 1 และแอสตร้าฯ เป็นเข็ม 2 ช่วยรับมือสายพันธุ์เดลตา ที่กำลังระบาดหนัก

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า สถานการณ์โควิดในกรุงเทพและปริมณฑล ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งโควิดที่ระบาดตอนนี้ คือ สายพันธุ์เดลตา และยังมีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อไปยังต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถานประกอบการ โรงงาน ตลาดค้าส่ง

 

"มีการคาดการณ์ว่า จะพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 10,000 รายต่อวัน หรือ 1 แสนกว่ารายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่งผลให้เกิดอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ"

 

จนถึงขณะนี้ดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้วมากถึง 12 ล้านโดส แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงสูงที่ตั้งเป้าไว้ ยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามจำนวน จึงมีความจำเป็นต้องเร่งให้กลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนตามระยะเวลา

 

นอกจากนี้ทืี่ประชุมมีมติ 4 เรื่อง คือ เห็นชอบให้สามารถฉีดวัคซีนโควิดต่างชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้าได้ กำหนดให้ระยะเวลาห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตา  

 

โดยจะสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสในระดับที่สูงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้า ที่ปฎิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย

 

รวมถึงมีมติตามข้อเสนอฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือบูสเตอร์โดส 3 แก่บุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้า โดยการให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ระยะตั้งแต่ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกเกิน 4 สัปดาห์แล้ว ดังนั้นสามารถดำเนินการฉีดกระตุ้นได้ทันที

 

"สายพันธุ์เดลตานั้น มีความจำเป็นที่จะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจ และเกิดความปลอดภัยต่อบุคลากร ซึ่งบูสเตอร์โดส จะเป็นวัคซีนซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้าก็สามารถใช้ได้

 

รวมถึงมีมติเห็นชอบแนวทางการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในการตรวจทานเชื้อโควิด เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ และให้ประชาชนเข้าถึง โดยชุดตรวจต้องผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปัจจุบันมีผู้มาขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ราย จะอนุญาตให้ตรวจในสถานพยาบาลและหน่วยตรวจ ที่ได้รับรองมาตรฐาน

 

ส่วนระยะถัดไป จะอนุญาตให้ตรวจเองที่บ้าน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบผลที่เร็ว และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

 

สุดท้ายที่ประชุมเห็นชอบการแยกกักตัวที่บ้าน และการแยกจากในที่ชุมชน หรือ Home Isolution และ Community isolution ที่มีเงื่อนไขเหมาะสม โดยกระทรวงจะจัดอุปกรณ์วัดไข้ และการวัดระดับ ระดับออกซิเจนในเลือด และยาจัดให้กับผู้ป่วยที่แยกอยู่บ้าน และชุมชน ซึ่งทาง สปสช.ได้อนุมัติแนวทางการเบิกจ่ายให้สถานพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

logoline