svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อ.จุฬาฯ กางข้อกฎหมาย ชำแหละ "ส.ส." จงใจทำสภาล่ม อาจมีความผิด

01 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พรสันต์" อ.นิติศาสตร์ ระบุ ส.ส.จงใจทำให้สภาล่ม อ้างเป็นเทคนิครอเวลาให้เสียงเป็นหนึ่งเดียวกันฟังไม่ขึ้น ชี้ละเมิดอำนาจสภา เข้าข่ายผิดจริยธรรม และอาจมีโทษทางกฎหมายตามมา

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์สภาล่มเมื่อวาน (30 มิ.ย.) ซึ่ง ส.ส.บางคน อยู่ในห้องประชุม แต่จงใจไม่ยอมแสดงตนว่า จากคำสัมภาษณ์ของคุณวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาล บอกว่าเป็นเทคนิครอเวลา เพราะคุยกันยังไม่รู้ พรรคร่วมรัฐบาลไปคนละทางกันเลย กรณีนี้มีประเด็นในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายรัฐสภา ที่ต้องอธิบายดังนี้ครับ

1.การกระทำของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ไม่เข้าประชุม (ข้อเท็จจริงปรากฏด้วยว่าบางท่านไปที่สภา แต่ไม่แสดงตน รวมถึงคุณวิรัชเองด้วย) ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภา เรียกการกระทำนี้ว่า "การเตะถ่วงการตราตัวบทกฎหมาย" (Filibuster)

2.จากบทสัมภาษณ์ของคุณวิรัช ชี้แจงว่าที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าร่วมประชุมนั้น เพราะยังคุยกันไม่รู้เรื่อง แล้วจะให้องค์ประชุมครับได้อย่างไร ลักษณะการกระทำและคำพูดมีความชัดเจนว่ามี "เจตนา" ที่จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายได้

3.เมื่อการที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลรวมถึงคุณวิรัชร่วมใจกันไม่เข้าประชุมโดยมี "เจตนา" ตามที่ให้สัมภาษณ์ว่าเป็น "เทคนิค" ที่ทำขึ้น ตามหลักกฎหมายรัฐสภาแล้วเป็น "การละเมิดอำนาจรัฐสภา" (Contempt of Parliament) ซึ่งหมายถึง เป็นการจงใจที่จะสร้างอุปสรรค หรือขัดขวางการทำหน้าที่ของรัฐสภา ณ ที่นี้ก็คือ ทำไม่ให้สามารถดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายได้ตามที่อธิบายไปตามข้อ 2

4.การเจตนาเตะถ่วงการพิจารณาร่างกฎหมายถือเป็นการกระทำผิดที่กระทบต่อ "หลักการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สาธาณะของฝ่ายนิติบัญญัติ" ที่เรียกร้องให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ต้องกระทำโดยไม่ชักช้าด้วย ดังนั้น จึงถือว่าเข้าข่ายขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการ พ.ศ.2563 ที่กำหนดให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือเพื่อประโยชน์ประเทศ อุทิศเวลาให้กับการประชุม และพิจารณากฎหมายโดยไม่ชักช้า ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นไปตามภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในหมวดที่ ๗ รัฐสภา

5.ประเด็นนี้อยู่ในขอบข่ายการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวมีลักษณะขัดต่อข้อบังคับหรือไม่อย่างไร และทำความเห็นต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อมีมติต่อไป หากเป็นกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปครับ

ผมเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนปวงชนพึงต้องทำหน้าที่ของตนเองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อประโยชน์ของประชาชนครับ 

อนึ่ง กรณีการเตะถ่วงการพิจารณากฎหมาย สภาผู้แทนราษฎรของประเทศอังกฤษ (House of Commons) เคยมีมติลงโทษสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานละเมิดอำนาจรัฐสภา เนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางการทำหน้าที่ของสภาอันเป็นการกระทำต่อประโยชน์สาธารณะอย่างไร้เหตุผล

logoline