svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ครม.เคาะมาตรการเยียวยา ร้านอาหาร-ก่อสร้าง 6 จังหวัด 8,500 ล้านบาท

29 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ "มาตรการเยียวยา" ผู้ประกอบการร้านอาหาร -ก่อสร้าง 6 จังหวัด โดยใช้วงเงินประมาณ 8,500 ล้านบาท ใช้เงินกู้ 5,000 ล้านบาท เงินประกันสังคม 3,500 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จากที่ได้มีการประชุมเบื้องต้นเกี่ยวกับการที่จะมีมาตรการที่จะออกมาเยียวยาจากที่ทางรัฐบาลได้มีมาตรการที่เข้มงวดใน 10 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่ก่อสร้างที่พักคนงานขนาดใหญ่ หรือที่เราเรียกว่าแคมป์คนงาน รวมถึงขายอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่ 6 จังหวัด ที่จะต้องซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านเท่านั้น ไม่อนุญาตนั่งทานในร้าน รวมถึงงดกิจกรรมประชุมสัมมนาการจัดเลี้ยง และการห้ามทำกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเกิน 20 คน ตามมาตรการที่ออกประกาศฉบับที่ 25

ทางรัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบของประชาชน ทั้งในส่วนของลูกจ้างแรงงานและผู้ประกอบการ จึงได้มีมติเห็นชอบหลักการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 25 โดย พื้นที่ที่จะได้รับการช่วยเหลือ คือ กรุงเทพมหานคร- ปริมณฑล คือ นครปฐมนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการช่วยเหลือ คือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะมีกิจการก่อสร้างกิจการที่พักแรม และบริการด้านอาหาร กิจการด้านศิลปะความบันเทิงและนันทนาการและกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดโดยมีระยะเวลาในการช่วยเหลือจำนวน 1 เดือน

ในเบื้องต้นกิจกรรมก่อสร้าง เกี่ยวกับการก่อสร้างต่างๆ อาคารที่พักอาศัย ถนน สาธารณูปโภค และที่สำคัญ คือเรื่องของกิจกรรมและการบริการด้านอื่นๆ จะรวมถึงการซ่อมต่างๆ เช่น ซ่อมคอมพิวเตอร์ ร้านซ่อมอุปกรณ์สื่อสารโทรศัพท์มือถือ อิเล็คทรอนิกส์ การซ่อมเครื่องใช้ในครัวเรือน การซ่อมรองเท้า เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ นาฬิกา เครื่องแต่งกาย จักรยานยนต์สองล้อ เครื่องดนตรี เครื่องกีฬา และกิจกรรมสปา การบริการลดน้ำหนัก กิจกรรมการแต่งผมดูแลความงาม แต่งเล็บมือ แต่งเล็บเท้า การบริการซักรีด กิจกรรมดูแลสัตว์เลี้ยง ทั้งหมดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมในบริการด้านอื่นๆ ที่จะได้รับการเยียวยา

ทั้งนี้กลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบมาตรา 33 ที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2000 บาทต่อคนเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมปกติ ที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันสูงสุดไม่เกิน 7500 บาทตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่

ส่วนผู้ประกอบการ หรือนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมสูงสุดดูตามจำนวนรายของลูกจ้างที่มีซึ่งจำนวนที่จะได้รับการเยียวยาคือ 3000 บาท ต่อหัวสูงสุดไม่เกิน 200 ราย ดังนั้นหมายความว่าต่ำสุดที่จะให้นายจ้างคือ 3000 บาทและสูงสุดไม่เกิน 600,000 บาทแล้วแต่จำนวนลูกจ้างที่มีอยู่ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

กรณีผู้ประกอบการไม่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นถุงเงินโดยผ่านโครงการคนละครึ่งให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3000 บาท

ในกรณีที่ผู้ประกอบการอยู่ในหมวดของร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ในโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้างก็จะได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 3000 บาท เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ที่ให้ผ่านโครงการคนละครึ่ง เนื่องจากว่าในการที่จะลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการการลงทะเบียนจะให้มีระบุว่าทำกิจการอะไร ซึ่งโครงการคนละครึ่งจะมีหมวดที่ชัดเจนว่ามีหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งในหมวดนี้สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมก็สามารถที่จะเข้าไปลงทะเบียนเพื่อที่จะรับเงินช่วยเหลือได้

นอกเหนือจากนี้มาตรการใดให้กระทรวงการคลังดำเนินการโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามแผนเดิมที่กำหนดในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 2564 ได้แก่โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่สาม โครงการคนละครึ่งระยะที่สาม และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยได้มีการให้กระทรวงแรงงานประสานขอความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยสมาคมภัตตาคารไทยและร้านอาหารในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการใช้บริการอาหารจากภัตตาคารร้านอาหารและร้านอาหารรายย่อยเพื่อดูแลกลุ่มคนงานที่พักอาศัยชั่วคราวอยู่ในแคมป์คนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง

สำหรับมาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไปให้พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเร่งประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียนในระบบประกันสังคมพร้อมทั้งมอบหมายให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ตามความเหมาสมต่อไป


มีรายงานว่า วงเงินประมาณที่ใช้ประมาณ 8.5 พันล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากกองทุนประกันสังคม 3.5 พันล้านบาท และเงินกู้ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทจำนวน 5 พันล้านบาท ที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่มาใช้จ่ายในส่วนนี้

logoline