svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ครม.เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 จำนวน 3,100,000 ล้าน พิจารณาวาระแรก 31 พ.ค.

11 พฤษภาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ครม."เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี65 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 185,962 ล้านบาท พร้อมประมาณการรายได้ 2,400,000 ล้านบาท เตรียมนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา วาระแรก 31 พ.ค.นี้

วันนี้ (11 พ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาในวาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 31พ.ค. - 2มิ.ย. 64 นี้ โดยวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.66 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการดำเนินภารกิจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศรวมทั้งรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีประมาณการรายได้สุทธิ จำนวน 2,400,000 ล้านบาท และกำหนดวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในกรอบสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ กรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจํานวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณที่กําหนดไว้ สํานักงบประมาณได้เสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ (1) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) (2) การลงทุนของหน่วยงานในกองทุนรวมโครงสร้าง พื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (THAILAND FUTURE FUND) และ (3) การใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคม ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ 2548 ทั้งนี้ สํานักงบประมาณได้จัดทําคําชี้แจง เหตุผลความจําเป็นของมาตรการดังกล่าว และจะได้จัดทําคําแถลงต่อรัฐสภาต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ว่า ครอบคลุม 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รวมทั้ง รายการค่าดำเนินการภาครัฐ และงบประมาณสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

logoline