- 30 เม.ย. 2564
- 134
สถานการณ์โควิดปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า หากถึงวันที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงพอที่จะรับผู้ป่วยใหม่ได้ และโรงพยาบาลสนามก็เต็ม อะไรจะเกิดขึ้นในสังคมไทย...
หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดนนทบุรี นำโดย ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ร่วมกับบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดโควิดด้วยการเตรียมการล่วงหน้า ยกระดับรพ.สนาม สู่ "SEMI ICU สนาม" ให้พร้อมสำหรับผู้ป่วยกึ่งวิกฤติ (SEMI ICU) และผู้ป่วยโรคโควิดระดับต้นที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยร่วมกันปรับปรุงอาคารเรียนที่ไม่ได้ใช้ ให้กลายเป็น ห้องต้นแบบ "SEMI ICU สนาม" และหอพักผู้ป่วยโควิดรวมที่ปลอดภัย พร้อมรับทั้งผู้ป่วยโควิดระดับยังไม่รุนแรงมาก ไปจนถึง ระดับกึ่งวิกฤติ (SEMI ICU) ตามมาตรฐาน WHO
และถึงแม้เป็น "รพ.สนาม" ก็ต้องปลอดภัย! ทั้งกับผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และชุมชนใกล้เคียงระบบแลกเปลี่ยนอากาศความดันลบใหม่แห่งนี้ ถูกออกแบบให้มุ่งเน้นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในรพ.สนาม โดยการลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อ ระหว่างผู้ป่วยแต่ละเตียงใน รพ.สนาม และระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการเพิ่มอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศ (Air Change) ให้สูงทัดเทียมห้อง ICU ในโรงพยาบาล คือ 12 รอบต่อชั่วโมง หรือทุกๆ 5 นาที อากาศในห้องจะถูกเปลี่ยนให้เป็นอากาศบริสุทธิ์ ดังนั้น เชื้อในห้องจึงลดลง (99% ภายใน 23 นาที ตามเกณฑ์ศูนย์ควบคุมและป้องกันเชื้อโรค สหรัฐอเมริกา CDC) โดยปฏิเสธที่จะใช้แอร์ธรรมดา เนื่องจากอากาศที่มีเชื้ออยู่ก็จะวนเวียนปะปนกันอยู่ภายในรพ.สนาม ซึ่งมีงานวิจัยล่าสุดจาก MIT ระบุว่า หากอยู่ในห้องที่อากาศปิด แม้จะเว้นระยะห่าง 1.8 เมตร (6 ฟุต) หรือ 18 เมตร (60 ฟุต) ก็เสี่ยงใกล้เคียงกัน!
ในขณะที่โรงพยาบาลทุกแห่งแออัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ภารกิจที่สำคัญของ "รพ.สนาม" คือจะต้องสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย รวมถึงต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้องในรพ.สนาม ทำให้ลดความจำเป็นในการที่จะต้องไปรักษาในโรงพยาบาลหลักให้ได้มากที่สุด รวมถึงในอนาคต เมื่อการระบาดสิ้นสุดลงแล้ว ก็สามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ระบบแลกเปลี่ยนอากาศดังกล่าวไปใช้ต่อในโรงพยาบาลหลัก โดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากนัก
การเร่งยกระดับ "รพ.สนาม" ให้เป็น "SEMI ICU สนาม" รวมถึงหอผู้ป่วยโควิดรวม จึงเป็นความจำเป็นที่ควรดำเนินการโดยเร่งด่วน ก่อนที่ความพร้อมภายในรพ.จะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยใหม่ได้อีกต่อไป เมื่อมีเตียงในรพ.สนามมากพอที่จะรองรับผู้ป่วยใหม่ ย่อมลดโอกาสการติดเชื้อกันเองภายในบ้าน ผู้สูงอายุในบ้านก็จะปลอดภัย การแพร่กระจายเชื้อต่อย่อมน้อยลง...นอกจากนี้ เพราะเราไม่อาจทราบได้เลยว่า คนที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยมีเชื้อโควิดอยู่หรือเปล่า อากาศภายในบ้าน รวมถึงสถานที่ทำงาน ห้องประชุม และที่สาธารณะอื่น ๆ ที่เป็นห้องแอร์ ซึ่งถือเป็นอากาศปิด ไม่มีการแลกเปลี่ยนอากาศ อากาศภายในห้องจึงถือว่ามีความเสี่ยง และกลายเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับในโรงพยาบาลสนาม เราจึงจำเป็นต้องมีระบบจัดการอากาศภายในห้อง ที่สามารถเพิ่มอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศเพื่อลดปริมาณเชื้อในอากาศ ด้วยการนำอากาศใหม่ที่ผ่านการกรองอย่างถูกวิธี (Fresh Air) เติมเข้าสู่ห้องตลอดเวลา พร้อมกับนำอากาศที่อาจปนเปื้อนเชื้อภายในห้อง ไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคและนำไปทิ้งสู่ภายนอก ให้เราสามารถใช้ชีวิตในยุคนี้ได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม