svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กมธ.แจงผลศึกษาแก้รธน.ชี้เห็นตรงกันทำให้ไม่กระทบพระราชอำนาจ

17 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กมธ.ศึกษารัฐธรรมนูญ" แจงรายงานการศึกษา ชี้หลายเรื่องยังมองต่างกัน โดยเฉพาะการตั้งสสร.-การออกเสียงประชามติ แต่เห็นตรงกันว่าต้องไม่แก้ไขให้กระทบต่อพระราชอำนาจ

17 พฤศจิกายน 2563 นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการได้รายงานผลการศึกษาของกมธ. ว่า เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การลงมติรับหลักการ จึงเห็นชอบให้มีการตั้งกมธ.ขึ้นมาพิจารณาศึกษาก่อน โดยมีการศึกษาประเด็นข้อกฎหมาย ว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 หรือไม่

ส่วนการทำประชามติจำเป็นต้องดำเนินการก่อนเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และควรกำหนดวิธีการอย่างไร เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่กระทบต่อพระราชอำนาจในหมวดอื่นๆ นอกจากหมวด 1 และ 2 อีกทั้ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างที่ 3-6 ขัดต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในร่างที่ 1 และ 2 หรือไม่ เนื่องจากเมื่อมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ขึ้นมาเพื่อยกร่างทั้งฉบับ จะทับซ้อนกับการแก้ไขเนื้อหารายมาตราหรือไม่

ทั้งนี้ กมธ.ได้เชิญบุคคลผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็น เพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วน และเปิดโอกาสให้กมธ.ทุกคนแสดงความเห็น โดยไม่มีการลงมติ มีเอกสารที่เกี่ยวข้องในภาคผนวก เพื่อประกอบการพิจารณาลงมติรับหลักการหรือไม่

ด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะประธานอนุกมธ.จัดทำรายงานพิจารณาศึกษา ชี้แจงเนื้อหารายงาน ว่า เมื่อไม่มีฝ่ายค้านร่วมด้วย จึงไม่มีข้อสรุป โดยให้บันทึกความเห็นในกมธ.ไว้ ซึ่งผลการพิจารณาของกมธ.เรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 หรือไม่ ซึ่งมีความเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมสามารถทำได้ แต่การตั้ง สสร. ก็มีความเห็นต่างกันเป็น 2 ทาง เช่นเดียวกับการออกเสียงประชามติทั้งนี้ บางฝ่ายเห็นว่าควรออกเสียงเพียง 1 ครั้ง อีกฝ่ายเห็นว่าควรทำประชามติก่อนดำเนินการด้วย แต่มีความเห็นเป็นทางเดียวกันว่า การดำเนินการประชามติ ต้องให้มีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเสียก่อน ส่วนการป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขกระทบพระราชอำนาจในมาตราอื่นๆ นอกจากหมวด 1 และ 2 โดยเห็นไปในทางเดียวกัน ว่าพระราชอำนาจในหมวดอื่นๆ เป็นไปในฐานะประมุขแห่งรัฐอยู่แล้วตามหมวด 1 และ 2 ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3-6 ซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตรา บางฝ่ายเห็นว่าไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้ แต่บางฝ่ายก็เห็นว่าซ้ำซ้อนกับ สสร.

logoline