svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จุดตัดทางรถไฟเพิ่ม แต่ ร.ฟ.ท.ถูกตัดงบ?

12 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดราม่าตัดงบติดตั้งไม้กั้นบริเวณจุดตัดรถไฟบานปลาย อดีตโฆษกกรรมาธิการงบประมาณปี 64 ขอเวลาตรวจสอบรายละเอียด แต่ยืนยันถ้าการรถไฟฯไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ แม้มีงบก็ทำอะไรไม่ได้ จี้ปฏิรูปตัวเองก่อน ขณะที่สถิติ "ทางลักผ่าน" เพิ่มจำนวนขึ้นเกือบ 100 จุด สาเหตุเพราะเมืองขยาย สายใต้เยอะสุด

อุบัติเหตุครั้งรุนแรง รถไฟชนรถบัสโดยสารที่กำลังไปงานบุญทอดกฐิน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 18 ราย บาดเจ็บอีกหลายสิบราย ในพื้นที่ของจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น นับเป็นอีกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ และเป็นจุดตัดที่ไม่มีเครื่องกั้นของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. ระบุว่า จุดตัดทางรถไฟที่พบเห็นในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
- จุดตัดทางรถไฟแบบต่างระดับ- จุดตัดทางรถไฟแบบมีเครื่องกั้น- จุดตัดทางรถไฟแบบควบคุมด้วยเครื่องหมายจราจร (หมายถึงไม่มีเครื่องกั้น แต่การรถไฟฯได้สำรวจและติดตั้งเครื่องหมายการจราจรแล้ว)- จุดตัดทางรถไฟที่เป็น "ทางลักผ่าน"
ความหมายของ "ทางลักผ่าน" คือ จุดตัดผ่านทางรถไฟที่เป็นทางเข้า-ออกประจำของเอกชน หรือผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น ผู้ทำทางตัดผ่านอาจเป็นประชาชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ได้มีการขออนุญาตหรือไม่ได้รับอนุญาตจากการถไฟฯ ทำให้ไม่มีระบบการควบคุมความปลอดภัยใดๆ เลย แม้แต่ป้ายแจ้งเตือน


จุดตัดทางรถไฟเพิ่ม แต่ ร.ฟ.ท.ถูกตัดงบ?





สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งเก็บรวบรวมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเอง ระหว่างปี 2550-2557 ปรากฏว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟมากกว่า 100 ครั้งต่อปี สูงสุดคือ 165 ครั้งในปี 2551 และ 127 ครั้งในปี 2557 เฉพาะปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 91 ราย โดยร้อยละ 87 เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ไม่มีเครื่องกั้น
จากปัญหานี้ทำให้รัฐบาล คสช. มีนโยบายแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2558 มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ให้ดำเนินมาตรการควบคุมความปลอดภัยบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ด้วยการติดตั้งเครื่องกั้น ป้ายหยุด ป้ายเตือน เนินชะลอความเร็ว และไฟสัญญาณเตือนต่างๆ โดยใช้งบประมาณของกระทรวงคมนาคม หากไม่เพียงพอ ให้ประสานสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบเพิ่มเติมตามความเร่งด่วน เช่น ในปีงบประมาณ 2558 การรถไฟฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 403 ล้านบาท เพื่อติดตั้งเครื่องกั้นรถไฟจำนวน 130 แห่ง เป็นต้น
หลังจากรัฐบาลดำเนินนโยบายนี้ ทำให้ปริมาณอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไปลดลงเป็นลำดับ คือ
ปี 2558 มีอุบัติเหตุ 92 ครั้งปี 2559 มีอุบัติเหตุ 77 ครั้งปี 2560 มีอุบัติเหตุ 71 ครั้งปี 2561 มีอุบัติเหตุ 57 ครั้ง
สำหรับโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ มีระยะทางทั้งสิ้น 4,043 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 47 จังหวัด ข้อมูลก่อนปี 2562 มีจุดตัดทางรถไฟ 2,517 แห่ง เป็นจุดตัดที่ได้รับอนุญาต 1,933 แห่ง และไม่ได้รับอนุญาต หรือทางลักผ่าน 584 แห่ง แยกเป็นสายใต้ 456 แห่ง สายเหนือ สายอีสาน และสายตะวันออก 128 แห่ง ช่วงตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายให้แก้ไขปัญหา ก็เริ่มมีโครงการก่อสร้างสะพานหรือทางลอดบริเวณจุดตัดทางรถไฟมากขึ้น โดยเฉพาะสายใต้ และเร่งติดตั้งไม้กั้นหรือเครื่องกั้น รวมทั้งป้ายหยุด ป้ายเตือน บริเวณทางลักผ่านที่สำรวจพบ
จากการสำรวจใหม่ในปี 2562 พบว่า มีจุดตัดทางรถไฟที่ได้รับอนุญาต เพิ่มขึ้น 48 แห่ง จาก 1,933 แห่ง เพิ่มเป็น 1,981 แห่ง ส่วนทางลักผ่าน ปรากฏว่าเพิ่มขึ้นถึง 92 แห่ง จากเดิม 584 แห่ง เพิ่มเป็น 676 แห่ง สะท้อนว่ามีทางลักผ่าน หรือจุดตัดที่ไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นตามการขยายของเมือง แต่ล่าสุดกลับมีข่าวว่ากระทรวงคมนาคมถูกตัดงบประมาณในส่วนนี้จากคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564
จึงต้องรอดูว่าหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยอีก



จุดตัดทางรถไฟเพิ่ม แต่ ร.ฟ.ท.ถูกตัดงบ?




ด้าน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 กล่าวว่า ตามที่มีข่าวว่ากระทรวงคมนาคมไม่มีงบประมาณติดต้งไม้กั้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟ เพราะคณะกรรมาธิการฯ ตัดงบดำเนินการของกรมขนส่งทางรางนั้น ตนจะเร่งตรวจสอบรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ยืนยันว่าต่อให้มีงบประมาณดำเนินการ ถ้าหากการรถไฟฯในฐานะเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาตให้หน่วยงานเข้าไปดำเนินการ หน่วยงานภายนอกก็ไม่สามารถเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์กั้นทางเพื่อลดอุบัติเหตุได้ 
ดังนั้นถึงเวลาที่การรถไฟฯ ต้องปฏิรูป "ทางลักผ่าน" ในพื้นที่ต่างๆ หากจุดใดที่มีความจำเป็นต้องอนุญาต ให้ทำเป็นจุดข้ามถาวร มีอุปกรณ์กั้นทาง และมีนายตรวจดูแล แต่หากจุดไหนที่ไม่สามารถผ่อนผันได้ ต้องติดตั้งเครื่องกั้นถาวร เช่น บล็อคคอนกรีตกั้นทาง เป็นต้น จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "เนชั่นทีวี" ยังไม่พบข้อมูลการตัดงบของกรมการขนส่งทางราง หรือของการรถไฟแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการแแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นงบปกติของหน่วยงาน และถูกตัดลดในภาพรวม อย่างไรก็ดี "เนชั่นทีวี" ตรวจสอบพบการปรับลดงบประมาณโครงการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟของกรมทางหลวง ในเอกสารรายการปรับลด ของคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ 

logoline