svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

NARIT แจงกระแส "ดาวเคราะห์น้อย 2018" VP1 โคจรใกล้โลก

30 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกระแสข่าวดาวเคราะห์น้อยชนโลก โดยครั้งนี้เป็นกระแสของ "ดาวเคราะห์น้อย 2018" VP1 ซึ่งในประเด็นดังกล่าวทางเพจได้เผยว่า เป็นไปได้ที่จะเกิดอันตรายต่อโลกค่อนข้างน้อยมาก

เกิดกระแสข่าวดาวเคราะห์น้อยชนโลกอีกครั้ง ครั้งนี้พูดถึง "ดาวเคราะห์น้อย 2018" VP1 ซึ่งจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ก่อนหน้าวันเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาเพียง 1 วัน แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดอันตรายต่อโลกค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2 เมตร ซึ่งหากพุ่งเข้าชนโลกจริง ก็เป็นไปได้ที่จะเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศเกือบหมดก่อนลงสู่พื้นโลก

NARIT แจงกระแส "ดาวเคราะห์น้อย 2018" VP1 โคจรใกล้โลก


ดาวเคราะห์น้อย 2018 VP1 จัดอยู่ในประเภทวัตถุใกล้โลก (Near Earth Object) ค้นพบเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 โดยโครงการสำรวจท้องฟ้า Zwicky Transient Facility (ZTF) จากการติดตั้งอุปกรณ์เก็บข้อมูลกล้องดูดาวขนาดใหญ่ของหอดูดาวพาโลมาร์ (Palomar Observatory) ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากค้นพบและได้รับการยืนยันเป็นดาวเคราะห์น้อย ได้นำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ของ NASA Jet Propulsion Laboratory (NASA JPL) ก่อนจะร่วมกับศูนย์ดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet Center) เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะเข้าใกล้โลกในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ห่างจากโลก 400,000 กิโลเมตร (ไกลกว่าระยะทางเฉลี่ยจากโลกถึงดวงจันทร์) และมีความเป็นไปได้ที่จะชนโลก ประมาณร้อยละ 0.41

ทั้งที่รู้ว่ามันมีโอกาสชนแต่เหตุใดจึงไม่แจ้งเตือน?
#เหตุผลแรก คือ ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2 เมตร ซึ่งขนาดดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นภัยอันตราย (ระดับความอันตรายอยู่ที่ 0 ตาม "โตริโนสเกล" หน่วยวัดความรุนแรงของภัยพิบัติบนโลกที่เกิดจากการชนวัตถุจากนอกโลก) หากเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วตามที่คำนวณไว้ประมาณ 53,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้ดาวเคราะห์น้อยลุกไหม้จนหมด ไม่เหลือถึงพื้นโลก
#เหตุผลที่สอง คือ ข้อมูลวงโคจรล่าสุดของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ เป็นข้อมูลแรกที่บันทึกไว้ขณะเพิ่งค้นพบในเดือนพฤศจิกายน 2561 หลังจากนั้นมาไม่มีผลการสำรวจเพิ่มเติมเนื่องจากปรากฏบนท้องฟ้าใกล้กับดวงอาทิตย์ตลอด และความสว่างต่ำมากจนไม่สามารถสังเกตการณ์ได้จากกล้องโทรทรรศน์บนโลก จึงหมายความว่าผลการคำนวณตอนนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก ล่าสุดในวันที่ดาวเคราะห์น้อย 2018 VP1 เข้าใกล้โลกที่สุดจะห่างจากโลก ประมาณ 400,000 กิโลเมตร (0.00271 AU) และเป็นไปได้ว่าอาจจะเฉียดไปด้วยระยะห่างที่มากถึงหลายล้านกิโลเมตร ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่จะชนโลกคือร้อยละ 0.41 ซึ่งในทางกลับกัน หมายความว่าโอกาสที่จะไม่ชนโลกก็สูงถึงร้อยละ 99.59
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มนุษย์ได้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดจากวัตถุนอกโลกไว้หลายครั้ง แม้จะยังไม่เคยบันทึกว่ามีผู้เสียชีวิตหรือเกิดหายนะครั้งใหญ่ แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังคงจับตาวัตถุใกล้โลกเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เพราะโอกาสที่พุ่งชนของวัตถุเหล่านั้นไม่เคยเป็นศูนย์
สำหรับดาวเคราะห์น้อย 2018 VP1 จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 และเนื่องจากเป็นวันก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา ซึ่งทางนักดาราศาสตร์ก็จะเฝ้าติดตามดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตรนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
เรียบเรียง : สิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ

logoline