svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"มาตรฐานจริยธรรม" ค้ำคอคนการเมือง?

09 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ต่อเนื่องจากเมื่อวาน ทิ้งท้ายกันไว้เรื่องคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรี ซึ่งบางข้อก็รวมถึง ส.ส.ด้วย รัฐธรรมนูญนี้เขียนเอาไว้เข้มข้น ทั้ง "ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" และ "ไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง"



คุณสมบัติ 2 ข้อนี้ไม่มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 160 และได้กลายเป็นประเด็นที่ "คนการเมือง" หยิบมาเป็นเครื่องมือเช็คบิล และเป็นอาวุธประหัตประหารกันในทางการเมือง

"มาตรฐานจริยธรรม" ค้ำคอคนการเมือง?



วันประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็มี ส.ส.ฝ่ายค้าน (วันนั้นยังไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน ส่วนใหญ่เป็นพรรคเพื่อไทยกับอนาคตใหม่) หยิบยกประเด็น "มาตรฐานทางจริยธรรม" มาถล่มนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา เร็วๆ นี้ก็จะนำประเด็นนี้มาขยายแผลต่อ หลังจากยื่นศาลรัฐธรรมนูญเรื่องสมาชิกภาพการเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว

จากนั้นกรณี "คุณช่อ" พรรณิการ์ วานิช รองโฆษกพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ภาพไม่ค่อยจะเหมาะสมในอดีต ก็มีบรรดา "นักร้องเรียน" ไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.และองค์กรที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ "มาตรฐานทางจริยธรรม" เช่นเดียวกัน

ล่าสุดคือกรณีของ คุณอุตตม สาวนายน ที่ถูกขุดคดีปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยในอดีตมาหลอกหลอน แม้ในทางคดีจะถึงที่สุดไปแล้วจากคำพิพากษาของศาลฎีกานักการเมือง แต่ฝ่ายค้านก็จะเดินหน้าตรวจสอบ "มาตรฐานทางจริยธรรม" ต่ออีก

"มาตรฐานจริยธรรม" ค้ำคอคนการเมือง?


"มาตรฐานทางจริยธรรม" กลายเป็น 1 ใน 8 ข้อที่เป็น "คุณสมบัติ" ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็หมายรวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย

รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้แบบนี้ "รัฐมนตรีต้อง... (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง"

แล้วเราจะดูมาตรฐานทางจริยจธรรมได้จากที่ไหน ถ้าอยากดูต้องย้อนตามไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 จะมี "เข็มทิศ" ให้เราไปตามต่อ

มาตรา 219 บอกว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกําหนด "มาตรฐานทางจริยธรรม" และเมื่อประกาศใช้แล้ว ให้ใช้บังคับแก่ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย

นีเองคือสาเหตุที่ "มาตรฐานทางจริยธรรม" ถูกอ้างถึงในการตรวจสอบทั้ง "นายกฯลุงตู่" ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี คุณอุตตม ถ้าได้เป็นรัฐมนตรี และ "คุณช่อ" ซึ่งเป็น ส.ส.อนาคตใหม่ เพราะถูกกำกับด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมเอาไว้ทั้งสิ้น

"มาตรฐานจริยธรรม" ค้ำคอคนการเมือง?


มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้บังคับคณะรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว.ด้วย ใช้ชื่อว่า "มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 มกราคมปีที่แล้ว

ลองพลิกดูข้อ 5 กับข้อ 6 ในหมวด 1 ที่ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์

ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย...ข้อนี้ถูกฝ่ายค้านหยิบมาใช้ถล่ม "บิ๊กตู่" เพราะเคยทำรัฐประหาร



ขณะที่ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย.... ข้อนี้ถูกใช้ถล่ม "คุณช่อ"

ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น...ข้อนี้เตรียมนำมาใช้กล่าวหา คุณอุตตม

เมื่อตามไปดูข้อ 27 การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามี "ลักษณะร้ายแรง" ซึ่งก็แปลว่า เข้าข่ายขัดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 นั่นเอง เพราะฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ที่สำคัญ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตตามข้อ 8 ของมาตรฐานจริยธรรม ยังมีบัญญัติแยกไว้ในมาตรา 160 (4) ของรัฐธรรมนูญด้วยว่า...รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ตีความกันแบบตรงๆ เปิดพจนานุกรมกันเลย ก็หมายความว่าคนจะเป็นรัฐมนตรีได้ ต้องเป็นคนที่พอเห็นหน้าต้องนึกถึงความสุจริต หรืออาจจะเคยได้รับรางวัลแห่งความซื่อสัตย์มาก่อน คำถามคือรายชื่อในโผ ครม. มีคนประเภทนี้อยู่สักกี่คน

"มาตรฐานจริยธรรม" ค้ำคอคนการเมือง?


ช่องทางการตรวจสอบคุณสมบัติของรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงนายกฯ หากเป็นบทบัญญัติตรงๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ก็ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งจะเป็นการวางบรรทัดฐานไปในตัว เช่น "ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" ต้องระดับไหน ส่วนการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ผู้ที่จะชี้ขาดว่าฝ่าฝืนหรือไม่ คือองค์กรที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องซื่อสัตย์สุจริต ก็ต้องให้ ป.ป.ช.ชี้ แบบนี้เป็นต้น

ไม่แน่ว่าถ้าใช้มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างเคร่งครัด จะเหลือ ส.ส.กี่คนในสภา เหลือรัฐมนตรีกี่คนในทำเนียบรัฐบาล!

logoline