svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โซเชียลมีเดีย ...ไอโอยุคดิจิทัล

12 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ล่าความจริง" วันนี้ เปิดรายการกันด้วยประเด็นต่อเนื่องจากเมื่อวาน คือ "สงคราม ไอโอ" หรือสงครามข้อมูลข่าวสารที่ถูกพูดถึงกันมากในความขัดแย้งทางการเมืองรอบปัจจุบัน หลังจากปฏิบัติการ ไอโอ ถูกใช้มาหลายปีในสมรภูมิชายแดนใต้ ใช้ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบที่เรียกว่า "โจรใต้"


เมื่อวาน "ล่าความจริง" เล่าให้ฟังถึงความหมายของ "ไอโอ" หรือ Information Operation ซึ่งหมายถึง "ปฏิบัติการข่าวสาร" ซึ่งเราได้รับข้อมูลมาจากอดีตผู้บริหารหน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบงานด้านการข่าวของประเทศ

สรุปง่ายๆ คือ หลักการสำคัญของ "ไอโอ" คือการเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของ "ฝ่ายเรา" ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และทำให้เกิดความคิดความเชื่อคล้อยตามความประสงค์ของ "ฝ่ายเรา" ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางระงับยับยั้ง ขัดขวาง หรือทำลายศักยภาพด้านการ "ไอโอ" ของฝ่ายตรงข้าม หรือ "ฝ่ายศัตรู" เพื่อไม่ให้สามารถเผยแพร่ความคิดความเชื่อต่อกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายของ "ฝ่ายเรา" ได้

โซเชียลมีเดีย ...ไอโอยุคดิจิทัล



ข้อสังเกตที่เราตั้งทิ้งไว้เมื่อวาน เพื่อเป็นประเด็นคุยกันต่อในวันนี้คือ

1.ในอดีต ไอโอ เป็นเครื่องมือสำคัญของหน่วยงานรัฐ หรือฝ่ายความมั่นคง เพราะเป็นผู้ยึดกุมสื่อแทบทุกแขนงไว้ในมือ แต่ปัจจุบันมีสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ทำให้หน่วยงานรัฐ "คุมสื่อ" ไม่ได้อีกต่อไป เพราะใครก็เป็นสื่อได้ เผลอๆ คนที่มีทักษะสูงในการใช้โซเชียลมีเดีย อาจทำ "ไอโอ" ได้เหนือกว่าหน่วยงานรัฐด้วยซ้ำ

2.บทบาทของโซเชียลมีเดีย ทำให้การ "ไอโอ" เป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพในการเอาชนะ โดยเฉพาะในสมรภูมิการเมือง

และ 3.หลักการสำคัญของ ไอโอ ที่ว่าการใช้ "ความจริง" ไล่ "ความเท็จ" จะประสบความสำเร็จในระยะยาว อาจจะไม่ใช้บทสรุปที่ถูกต้องอีกต่อไป โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียครองโลก และมีการทำ "เฟคนิวส์" ออกมาทำลายกัน แถมได้ผลมาแล้วหลายครั้่ง

โซเชียลมีเดีย ...ไอโอยุคดิจิทัล

เมื่อไม่นานมานี้มีบทความในต่างประเทศ ซึ่งมีคนแปลเป็นภาษาไทย ยกระดับ "ไอโอ" ในยุคโซเชียลฯว่าเป็นดั่งอาวุธประหัตประหาร โดยมี Big Data เก็บรวบรวมข้อมูล และสามารถประมวลวิเคราะห์ข้อมูลทำให้ทราบถึงพฤติกรรม รสนิยม ความคิด ความสนใจ ความเชื่อของคนในสังคมนั้นๆ ได้ ผู้ที่ทำ "ไอโอ" จึงสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาสร้างชุดความคิดเพื่อชี้นำได้ง่ายกว่าเดิม และสามารถสร้างกระแสให้เกิดความเชื่อในทิศทางเดียวกันของคนหมู่มากได้ด้วยการใส่แฮชแท็ก หากความคิดความเชื่อถูกท้าทาย ก็จะถูกแท็กทีมโจมตีกลับ

ที่น่าตกใจก็คือ คำเตือนที่ว่า หากผู้ใดอยู่ใต้บรรยากาศเช่นนี้นานๆ อาจจะถูกล้างสมองได้เหมือนกัน

โซเชียลมีเดีย ...ไอโอยุคดิจิทัล


อันตรายของ "ไอโอ" ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คืออันตรายจากการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือโจมตีกันมากกว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อสารของบ้านเราก็ตระหนัก และออกมาเตือนเช่นกัน อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ง่ายและทรงพลัง เพราะใครก็สามารถหยิบเรื่องราวในอินเทอร์เน็ตมาโจมตีใส่กันได้ เนื่องจากข้อความในอินเทอร์เน็ตไม่มีวันตายหรือหายไป คนที่คิดจะนำเรื่องเสียหายของฝ่ายตรงข้ามมาเผยแพร่ก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่คุณใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นก็พอแล้ว ฉะนั้นการทำสงครามไอโอ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นที่จะทำได้ เพราะคนธรรมดาสามัญที่ไหนก็ทำได้ และเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะเป็นฝ่ายพายแพ้ก็ได้เช่นกัน

ส่วนแนวทางแก้ไข อาจารย์พันธ์ศักดิ์ มองว่า แทบจะไม่มีทางแก้ได้เลย ตราบใดที่คนยังมีความคิดขุดคุ้ยเรื่องราวมาประจานกัน มีแค่แนวทางป้องกัน ก็คือ ก็สร้างจิตสำนึกในการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร รวมถึงรู้เท่าทันจุดมุ่งหมายของคนที่ทำ "ไอโอ" โจมตีฝ่ายตรงข้ามให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ทั้งหมดจะต้องมาจากการวิเคราะห์และแยกแยะว่า ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมามีเจตนาอะไรกันแน่ (เพราะจริงๆ แล้ว การกล่าวหาว่าอีกฝายไอโอ ก็เป็นการไอโออย่างหนึ่งเหมือนกัน)

logoline