svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ประกันสังคมถ้วนหน้า" ขยับรุกผู้ประกันตน ม.40

04 กันยายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในโอกาสสำนักงานประกันสังคมก้าวเข้าสู่ปีที่ 29 ประกาศเร่งเดินหน้า "ประกันสังคมถ้วนหน้า" ด้วยการเร่งรัดขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ เข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ในปี 2561 เข้าระบบเพิ่มกว่า 3 แสนคน โดยตั้งเป้าขยับเพิ่มอีกปีละ 1 ล้านคน จนถึง 3-5 ล้านคน ซึ่งตามมาตรา 40 ผู้ประกอบอาชีพอิสระทุกอาชีพมีสิทธิเข้าเป็นผู้ประกันตน สามารถเลือกรูปแบบการจ่ายเงินสมทบได้ 3 ทางเลือก


พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันจัดตั้งสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ครบรอบ 28 ปีว่า กระทรวงแรงงาน มุ่งหวังให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนตามแนวคิดประกันสังคมถ้วนหน้า ปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบจำนวนกว่า 15 ล้านคน โดยในปี 2562 การดำเนินงานจะต้องเน้นหนักและเร่งรัดการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ ให้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อการเข้าถึงหลักประกันทางสังคม สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ที่กำหนดให้มีสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย ของรัฐบาล



"ขณะนี้มีแรงงานนอกระบบเข้ามาในกองทุนประกันสังคมแล้วกว่า 2.5 ล้านคน เฉพาะปี 2561 มีแรงงานนอกระบบเข้าระบบตามมาตรา 40 แล้วกว่า 3 แสนคนในทุกกลุ่มอาชีพ อาทิ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างประมาณ 113,777 คน จากเป้าหมาย 1 ล้านคน และในปีต่อๆ ไปตั้งเป้าให้กลุ่มแรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 อีกปีละ 1 ล้านคน จนถึง 3-5 ล้านคนในอนาคต" พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว

"ประกันสังคมถ้วนหน้า" ขยับรุกผู้ประกันตน ม.40




พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า นโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของกระทรวงแรงงานประจำปีงบประมาณ 2562 ตามกลยุทธ์ก้าวกระโดด สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงสิทธิประโยชน์การประกันสังคม และปรับปรุงบริการทางการแพทย์ เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีเข้ารับการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One day Surgery) ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีรักษาโรคมะเร็ง ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีผู้ทุพพลภาพ ปรับปรุงมาตรฐานสถานพยาบาลที่ให้บริการพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการแพทย์กับสถานพยาบาลต่างๆ ในรูปแบบใหม่เพื่อให้บริการผู้ประกันตนระดับพรีเมียมส่งเสริมและป้องกันโรคแก่ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพได้รับสิทธิประโยชน์ไปอีก 6 เดือน (จากเดิมขาดสิทธิทันที)



ปฏิรูประบบประกันสังคม เพื่อรองรับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปฏิรูประบบบำนาญ การปรับเพดานค่าจ้างปรับสูตรการคำนวณบำนาญ ประกันเงินบำนาญขั้นต่ำ (กรณีเสียชีวิตภายใน 5 ปี) ผู้รับบำนาญทำงานต่อได้สิทธิประโยชน์ 3 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย) ขยายอายุการรับบำนาญจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ขยายอายุผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนในระบบจากเดิม 1560 ปี เป็น 15 ปีขึ้นไป ขยายโอกาสในการรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป การจ้างงานผู้สูงอายุเข้าทำงานกับสำนักงานประกันสังคมสำหรับบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป บูรณาการภาคีเครือข่ายในการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาแรงงานนอกระบบให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในส่วนของการแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนฉบับใหม่จะส่งผลให้มีการขยายความคุ้มครองให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการทุกประเภทและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายอันเนื่องจากการทำงาน

"ประกันสังคมถ้วนหน้า" ขยับรุกผู้ประกันตน ม.40



ในส่วนของการให้บริการสำนักงานประกันสังคมได้มีการยกระดับการให้บริการผู้ประกันตนในระบบ e-Service เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตนในรูปแบบที่หลากหลายทั้ง e-Service, Mobile Application, Social Media และ Web application ได้แก่ พัฒนาระบบ e-Service เพิ่มช่องทางการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ผ่านช่องทางต่างๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ศูนย์บริการข้อมูล 1506 ร้านสะดวกซื้อ (7-11) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพิ่มช่องทางการชำระเงินสมทบผ่านธนาคารและหน่วยบริการพัฒนารูปแบบการรับ-จ่ายเงินให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเงิน เพื่อก้าวสู่สังคมดิจิทัล โครงการ e-self Service สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตน การบูรณาการระหว่างสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กับสำนักงานประกันสังคม การจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามนายจ้างมาขึ้นทะเบียนประกันสังคมโดยใช้ E-mail / SMS แทนการออกหนังสือ การยกเลิกการขอสำเนาเอกสารทางราชการ (Zero copy)



อนึ่ง สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือ บุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ประกัันตนมาตรา 33, มาตรา 39 ประกอบอาชีพอิสระโดยมี 3 ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40 ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครอง 3 กรณี



คือ 1.กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรับค่าทดแทนขาดรายได้ หากเป็นผู้ป่วยใน ชดเชยวันละ 300 บาท ผู้ป่วยนอก (แพทย์ระบุให้หยุดงาน 3 วันขึ้นไป) ชดเชยวันละ 200 บาท โดยการรับสิทธิผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกหยุดรวมกันไม่เกิน 30 วันต่อปี ผู้ป่วยนอกหากหยุดไม่เกิน 2 วัน ได้ชดเชยวันละ 50 บาท (ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง) 2.กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้รายเดือน 500-1,000 บาท (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน) ได้รับเป็นระยะเวลา 15 ปี เสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท 3.กรณีเสียชีวิต ผู้จัดการศพ ได้รับเงินค่าทำศพ 20,000 บาท และกรณีจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต ได้เงินเพิ่มอีก 3,000 บาท

"ประกันสังคมถ้วนหน้า" ขยับรุกผู้ประกันตน ม.40

ทางเลือกที่ 2 จ่ายสมทบ 100 บาทต่อเดือน ทางเลือกนี้จะเพิ่มความคุ้มครองจากทางเลือกที่ 1 คือ ในกรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกเบี้ย โดยสะสมเงินออมเดือนละ 50 บาท(ได้รับเงินเมื่ออายุครบ 60 ปีและสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน) และผู้ประกันตนจ่ายเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท

และทางเลือกที่ 3 จ่ายสมทบ 300 บาทต่อเดือน โดยคุ้มครอง 5 กรณี ได้แก่

1.กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับค่าทดแทนขาดรายได้ โดยหากเป็นผู้ป่วยใน รับ 300 บาทต่อวัน ผู้ป่วยนอกที่แพทย์ให้หยุดเกิน 3 วัน ชดเชยวันละ 200 บาท โดยการรับสิทธิผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกหยุดรวมกัน ไม่เกิน 90 วันต่อปี

2.กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาทต่อเดือน โดยได้รับตลอดชีวิต (จำนวนเงินที่ได้รับจะขึ้นกับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ) หากเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท

3.กรณีเสียชีวิต ได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท 4.กรณีชราภาพได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล (ได้รับเงินเมื่ออายุครบ 60 ปีและสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน) โดยสะสมเงินออกเดือนละ 150 บาท หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือนรับเงินเพิ่ม 10,000 บาท ซึ่งผู้ประกันตนจ่ายเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท และ 5.กรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรแรกเกิด-6 ปีบริบูรณ์ 200 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน (ใช้สิทธิได้คราวละไม่เกิน 2 คน)

logoline