svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ภัยไซเบอร์" ยอดพุ่ง!! เฟซบุ๊กแชมป์เหยื่อเสียท่าเพราะความอยาก

24 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อินเทอร์เน็ตทำให้ชีวิตประจำวันของคนเราสะดวกสบายมากขึ้น การติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่คนไม่รู้จัก ก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโลกโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก แอพพลิเคชั่นไลน์ ฯ ลฯ

แต่ความสะดวกสบายนี้มีอันตรายแฝงมาด้วย เพราะกลับกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้มิจฉาชีพเป็น "โจรออนไลน์" หรือ "โจรไซเบอร์" ที่แม้จะอยู่ไกลจากเหยื่อก็สามารถเข้ามาใกล้ชิด แล้วตีสนิทตุ๋นเงินไปได้โดยง่ายหากไม่ระมัดระวัง ซึ่งปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับการ "ฉ้อโกง" แทบไม่เว้นแต่ละวัน จนมีสถิติการกระทำผิดและถูกหลอกลวงทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่วนที่ไม่เป็นข่าวก็มีอีกจำนวนไม่น้อย



เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) อธิบายภาพรวมของภัยคุกคามทางไซเบอร์ในยุคปัจจุบันว่า จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สอธพ. พบว่า สถิติ "ภัยคุกคามไซเบอร์" เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปี 2554 ที่มีผู้เข้าแจ้งความแค่หลักร้อย แล้วเพิ่มเป็นหลักพันตั้งแต่ปี 2556 และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2560 มีจำนวนถึง 842 กรณี เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มี 713 กรณี ซึ่งการเข้าถึงและเล่นโซเชียลมีเดียของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดภัยคุกคามไซเบอร์เพิ่มตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีด้วยไวรัสโปรแกรม (malicious code) โดยเมื่อสิ้นปี 2559 มีผู้เข้าแจ้งความแล้วถึง 1,020 กรณี คิดสัดส่วน 26.86% เทียบจากช่วงก่อนปี 2556 ที่มีไม่ถึงหลักร้อยกรณี และเป็นตัวเลขเดียวกับภัยของการเจาะเข้าใช้ระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต (Intrusion) ส่วนความผิดที่เกี่ยวกับการหลอกลวงซื้อขายทางออนไลน์ (Fraud) มีสถิติสูงรองลงมา ในสัดส่วนใกล้เคียงคือ 26.39%



จากข้อมูลเชิงสถิติพบว่า ปัจจุบันประเทศไทย เป็นประเทศที่ใช้เวลาต่อวันอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก (รวมทุกอุปกรณ์) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน และถ้าวัดเฉพาะการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟน ไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่ใช้เวลาท่องเน็ตต่อวันมากที่สุดในโลกเช่นกัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 56 นาทีต่อวัน นอกจากนี้คนไทยยังใช้เวลาในการเล่นโซเชียลมีเดีย โดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวัน และใช้เวลาไปกับการดูทีวี (Broadcast, Streaming, Video On Demand) ไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง 3 นาทีต่อวัน



หากพูดถึงการใช้โซเชียลมีเดียแล้วมีคนไทยใช้งานอยู่ประมาณ 51 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีมากถึง 46 ล้านคนที่เข้าผ่าน "Mobile Device" โดยเฟซบุ๊กยังคงเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมอันดับ 1 ของคนไทย และ "แชมป์" ในการใช้เยอะสุดก็หนีไม่พ้นพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในไทย คือ คนกลุ่มอายุระหว่าง 18-34 ปี ซึ่งเป็นผู้บริโภคกลุ่ม Millennials ที่ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนักการตลาดหรือแบรนด์ แต่เป็นกลุ่มที่เข้าถึงได้ยากมาก เนื่องจากเติบโตพร้อมกับการพัฒนาของออนไลน์และเทคโนโลยี หากใช้สื่อเดิมๆ หรือ กลยุทธ์เดิมๆ ตามมาด้วยกลุ่มอายุ 35-44 ปี เป็นผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y-Gen X และนี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยอดโจรไซเบอร์พุ่งพรวด เพราะคนนิยมใช้เป็นอันดับแรก จนเหล่ามิจฉาชีพได้ปรับตัวตาม "โลกาภิวัตน์"



การจับกุมของตำรวจ หรือการแจ้งความที่ถูกต้มตุ๋นหลอกเอาทรัพย์สินในห้วง 3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ช่องทางโซเชียลมีเดียที่คนร้ายนิยมใช้มากที่สุดคือ เฟซบุ๊ก! ไม่ว่าจะเป็นการปลอมเฟซบุ๊กแชทหาเพื่อนหลอกยืมเงิน ขายสินค้า หางาน แชร์ออนไลน์ ประมูลทองคำ บริจาคช่วยเหลือต่างๆ ฯลฯ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา ตำรวจกองปราบปราม ได้จับกุม น.ส.ปาวีณา สุขฉิม อายุ 33 ปี สืบเนื่องจากเมื่อช่วงกลางปี 2560 น.ส.ปาวีณาได้ปลอมเฟซบุ๊กของ "แอม" เสาวลักษณ์ ลีละบุตร ศิลปินนักร้องชื่อดัง ก่อนโพสต์ข้อความชวนเชื่อว่า สามารถจัดหาสถานที่ทำงานหรือพาไปทำงานยังต่างประเทศได้ ซึ่งผู้ที่สนใจจะได้รับเงินเดือนประมาณ 8 หมื่นบาท แต่จะต้องยอมจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท ตามแต่ความยากง่ายของแต่ละประเทศที่ผู้เสียหายต้องการไปทำงาน ซึ่งมีเหยื่อหลงเชื่อจำนวนมาก สร้างความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท



อีกคดีที่หลอกลวงฉ้อโกงผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยล่าสุดตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจ 191 จับกุม "นักบินเก๊" นายสาคร ลาจ้อย อายุ 47 ปี ที่มีพฤติการณ์หลอกลวงขายโทรศัพท์มือถือ ด้วยการแสดงตนเป็นนักบิน สร้างความน่าเชื่อถือ แล้วโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก หลอกเหยื่อว่าได้เครื่องโทรศัพท์ไอโฟนมาในราคาถูก และนำเข้าจากต่างประเทศ บางครั้งก็หลอกลวงว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจยึดไอโฟนไว้ และสามารถนำออกมาจำหน่ายในราคาถูกได้ซึ่งทำแบบนี้มานานถึง 5 ปี มีผู้เสียรู้ถูกหลอกจำนวนมากเช่นกัน



นอกจากนี้ยังมีการตุ๋นเหยื่อของ "แก๊งโรแมนซ์สแกม" หรือ "แก๊งแสร้งรักออนไลน์" ที่มีคนไทยและชาวผิวสีร่วมขบวนการ ที่ผ่านมาตำรวจจับกุมไปแล้วหลายแก๊ง แถลงข่าวประชาสัมพันเตือนภัยไปแล้วก็หลายหน แต่ก็ยังมีก่อเหตุอยู่เนืองๆ เช่นกัน โดยล่าสุดวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา ก็มีการแถลงผลจับกุมชาวไนจีเรียร่วมก๊วนคนไทย ส่วนพฤติการณ์เดิมๆ คือ แบ่งหน้าที่กันหลอกผู้เสียหายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ลักษณะใช้รูปโปรไฟล์หน้าตาดี หลอกคุยกับผู้เสียหายผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก แล้วอ้างว่ามีสินค้าที่จะส่งเป็นของขวัญให้ผู้เสียหาย แต่ติดขั้นตอนศุลกากร จนออกอุบายให้ผู้เสียหายโอนเงินมาช่วยเหลือเพื่อนำสินค้าออกไป เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินมาก็จะปิดเฟซบุ๊กหนีทันที



ทั้งนี้ ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ThaiCERT) ได้มีการบันทึกสถิติล่าสุดเกี่ยวกับการทำความผิดออนไลน์เฉพาะของปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม ดังนี้ การฉ้อฉลหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ (Fraud) เกิดขึ้นแล้วจำนวน 235 ครั้ง เทียบกับทั้งปี 2560 ที่เกิดขึ้นจำนวน 841 ครั้ง, การพยายามบุกรุกเข้าระบบ (Intrusion Attempts) เกิดขึ้นแล้วจำนวน 233 ครั้ง เทียบกับทั้งปี 2560 ที่เกิดขึ้นจำนวน 939 ครั้ง, การบุกรุกหรือเจาะระบบได้สำเร็จ (Intrusions) เกิดขึ้นแล้วจำนวน 132 ครั้ง เทียบกับทั้งปี 2560 ที่เกิดขึ้นจำนวน 570 ครั้ง, โปรแกรมไม่พึงประสงค์ (Malicious Code) เกิดขึ้นแล้วจำนวน 33 ครั้ง เทียบกับทั้งปี 2560 ที่เกิดขึ้นจำนวน 271 ครั้ง และการเข้าถึงหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาต (Information Security) เกิดขึ้นแล้วจำนวน 3 ครั้ง เทียบกับทั้งปี 2560 ที่เกิดขึ้นจำนวน 68 ครั้ง ทำให้เห็นว่าแนวโน้มของการหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์นั้นยังจะทะยานขึ้นไปอีก ซึ่งขณะนี้จากสถิติการหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ เป็นภัยออนไลน์ที่พบมากเป็นอันดับ 2 จากภัยคุกคามออนไลน์ทั้งหมด



สำหรับวิธีป้องกันโดนหลอกลวงทางออนไลน์ คือ 1.กรณีซื้อสินค้าออนไลน์ ควรตรวจสอบประวัติของเพจ, ชื่อเจ้าของบัญชีที่จะโอนเงิน, วิดีโอคอลพูดคุยกับร้านค้า เพื่อเซฟหน้าจอหรือเซฟวิดีโอคอลที่คุยกัน ถ้าร้านค้าไม่ส่งสินค้ามาวิดีโอคอลจะเป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดีต่อไป 2.การรับสมัครงานออนไลน์ที่พบเห็นในโลกอินเทอร์เน็ต มักมีคนร้ายแฝงตัวเข้ามาหลอกให้ประชาชนส่งสำเนาบัตรประชาชน, สมุดบัญชีธนาคาร, บัตรเอทีเอ็ม เพื่อไปใช้กระทำความผิด คนที่คิดจะทำงานออนไลน์ควรไปสมัครที่ทำงานที่อ้างถึง เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทหรือร้านค้าดังกล่าวมีตัวตนหรือไม่ และ 3.เก็บหลักฐานการพูดคุย, หลักฐานการโอนเงินทุกครั้งที่คิดจะซื้อของทางออนไลน์ หรือการทำธุรกรรมอื่นๆ ที่กลุ่มมิจฉาชีพหากลวิธีมาหลอกลวงเอาทรัพย์สินเงินทอง




ตัวเลขการโกงทางออนไลน์หรือออฟไลน์น่าจะลดลงได้ก็ต่อเมื่อทุกคนระมัดระวัง หลายต่อหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ตำรวจชุดจับกุมมักจะเตือนให้คิดเสมอว่า "ของฟรีไม่มีในโลก ไม่มีของดีราคาแสนถูก ไม่มีผลตอบแทนราคาสูงไหนที่ไม่เสี่ยง ควรตั้งสติ ระงับความอยาก ตัดกิเลส ไม่โลภ" แล้วเราจะไม่เสียท่าโจรไซเบอร์

logoline