svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

บุกคุกแดนอิเหนา...เมื่อ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" เริ่มทำงาน

13 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเสด็จเยือนกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ UNODC หรือสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ เมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นหนึ่งในพระภารกิจในการขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เป็นกลไกในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งนับเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่ยูเอ็นประกาศให้เป็นวาระการพัฒนาของโลก

บุกคุกแดนอิเหนา...เมื่อ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" เริ่มทำงาน

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ได้เข้าเยี่ยมชม "เรือนจำหญิงตังเกอรัง" ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือนจำที่ร่วมขับเคลื่อน "ข้อกำหนดกรุงเทพ" หรือ "แบงค็อก รูลส์" เพื่อยกระดับมาตรการการดูแลผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำให้เหมาะสมกับ "เพศภาวะ" และความเปราะบาง

เรือนจำหญิงตังเกอรังตั้งอยู่ในพื้นที่ชานเมืองของกรุงจาการ์ตา รองรับผู้ต้องขังได้ 250 คน แต่ปัจจุบันกลับมีผู้ต้องขังมากกว่า 400 คน และพวกเธอเหล่านั้นมากกว่าร้อยละ 86 ต้องโทษในคดียาเสพติด แน่นอนว่าเรือนจำแห่งนี้กำลังเผชิญภาวะ "นักโทษล้นคุก" ไม่ต่างกับประเทศไทย แต่ความมุ่งมั่นบริหารจัดการเรือนจำให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ภายใต้แนวทางของ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" ทำให้สถานการณ์ภายในเรือนจำดีวันดีคืน



บุกคุกแดนอิเหนา...เมื่อ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" เริ่มทำงาน




เฮอริน ชันดราวาติ (Mrs.Heriin Chandrawati) หัวหน้าเรือนจำหญิงตังเกอรัง บอกกับ "ล่าความจริง" ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทั้งการดูแลด้านโภชนาการให้เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขัง ดูแลด้านสุขภาพและอนามัย ตลอดจนการสร้างทักษะอาชีพ รวมถึงการปฏิบัติกับผู้ต้องขังต่างชาติให้สอดคล้องกับหลักศาสนา แม้กระทั่งการดูแลบุตรของผู้ต้องขังหญิงที่ต้องเติบโตภายในเรือนจำ ฉะนั้นการนำ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" มาปรับใช้ จึงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกฎหมายของอินโดนีเซีย โดยเน้นการอบรมและพัฒนาทรัพยากรบุคคล อย่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เพื่อให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้มีความรู้สึกผ่อนคลาย ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำอย่างมีความสุข และเตรียมความพร้อมในการออกไปใช้ชีวิตปกติในสังคมภายนอกภายหลังพ้นโทษ



บุกคุกแดนอิเหนา...เมื่อ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" เริ่มทำงาน





หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ ทีไอเจ ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า การนำ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" ไปยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ต้องขังหญิงที่มีความต้องการพื้นฐานแตกต่างจากผู้ต้องขังชายนี้ อินโดนีเซียให้ความสำคัญไปที่การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในเรื่องการฝึกอาชีพ และด้านสุขภาพของผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะกรณีผู้ต้องขังที่มีบุตรระหว่างต้องโทษ

การนำ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" ไปปรับใช้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ถือเป็นร่มใหญ่ในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ ไม่เพียงแค่ในภูมิภาคนี้ แต่ยังหมายถึงทั่วโลก เพราะนี่คือภาพสะท้อนหนึ่งของ "หลักนิติธรรม" อันเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน

บทบาทในการฟื้นฟูผู้ที่เคยกระทำความผิด โดยเฉพาะกลุ่มที่ "ก้าวพลาด" แน่นอนว่าการบังคับให้สิ้นอิสรภาพอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการควบคุมสังคมให้มั่นคงปลอดภัย แต่นั่นยังอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน หากไม่ย้อนไปทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่พวกเขาและเธอเหล่านั้นได้ตัดสินใจเลือกกระทำความผิด ซึ่งโดยมากหนีไม่พ้นปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ฉะนั้นการพัฒนาทักษะ เสริมศักยภาพ และสร้างองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพสุจริต เพื่อให้พวกเขาและเธอสามารถออกไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ในยามพ้นโทษ จึงน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและสร้างสังคมสันติสุขอย่างแท้จริง

logoline