svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิด 'เนื้อหา- ข้อต่อสู้' ชั้นศาล คดีสลายม็อบ ปี 51

01 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พรุ่งนี้ (2 ส.ค.) ศาลฎีกานักการเมือง พิพากษา คดี สลายม็อบพันธมิตร ปี 51 เปิด 'เนื้อหา-ข้อต่อสู้' ชั้นศาล' ชนิดมันส์หยด! ยกต่อยก ติดตามชม

เริ่มนับถอยหลังแล้วกับ นัดชี้ชะตา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 อายุ 70 ปี น้องเขยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือบิ๊กจิ๋ว อดีตรองนายกรัฐมนตรี อายุ 85 ปี นักการเมืองที่เคยร่วมทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหลายสมัย , พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. อายุ 68 ปี น้องชายของ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ รัฐบาล คสช. , พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. อายุ 66 ปี ที่ตกเป็นจำเลยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในการออกคำสั่งสลายม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือเสื้อเหลือง เมื่อปี 2551 ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันอังคารที่ 2 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น. โดยข้อกล่าวหานั้นกฎหมายระวางโทษไว้จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งหลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเมื่อปี 2552 แล้วก็ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด แต่สุดท้ายปี 2555อัยการได้ตั้งโต๊ะแถลงว่า อัยการสูงสุดโดยนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ มีความเห็นชี้ขาดว่าสำนวนคดียังมีข้อไม่สมบูรณ์ ซึ่งอัยการไม่อาจดำเนินคดีให้ได้ แม้ว่าขณะนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการ ป.ป.ช.พิจารณาข้อไม่สมบูรณ์แล้วก็ตาม อัยการสูงสุดจึงมีมติส่งสำนวนทั้งหมดคืนให้ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณายื่นฟ้องเองตามสิทธิและอำนาจที่บัญญัติใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ในมาตรา 11 บัญญัติว่า "...ในกรณีที่คณะทำงานไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดีได้ภายในกำหนดเวลา... ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช . มีอำนาจยื่นฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้ง ทนายความให้ฟ้องคดีแทนได้" และมาตรา 23 ก็บัญญัติให้กับผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาว่าได้แก่ (1) อัยการสูงสุด (2) คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงชัดเจนและมั่นใจว่า ป.ป.ช.รวบรวมสำนวนฟ้องศาลเองได้

เปิด

เมื่อกระบวนการได้ลากมานานถึง 6 ปี ป.ป.ช.ก็ได้ตัดสินใจมอบหมายให้ทนายความจากสภาทนายความ รับผิดชอบยื่นฟ้องคดี " 2 บิ๊กการเมือง-ตำรวจ" ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 7 ม.ค.58 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ตามมติของป.ป.ช.ตั้งแต่ปี 2552 ที่ชี้มูลความผิดนายสมชาย อดีตนายกฯ ด้วยคะแนน 8 ต่อ 1 ว่ามีความผิดทางอาญา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษในคืนวันที่ 6 ต.ค.51 โดยมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้สั่งการและเปิดทางให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าสู่รัฐสภา

ส่วนบิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต อดีตรองนายกฯ ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 3 มีความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ และสั่งการให้ตำรวจผลักดันผู้ชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา โดย ป.ป.ช.มีมติ 8 ต่อ1 ในส่วนของ พล.ต.อ.พัชรวาท ฐานะผบ.ตร.ซึ่งรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ว่ามีความผิดอาญา ซึ่งเมื่อเกิดเหตุรุนแรงจนถึงขั้นผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส ขาขาดแขนขาด ก็ต้องยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป ขณะที่ พล.ต.ท.สุชาติ อดีต ผบช.น.ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์และเป็นเจ้าของพื้นที่ ป.ป.ช.ก็มีมติ 8 ต่อ 1 เช่นกันว่ามีความผิดอาญา จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 มีการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่ม พธม.ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา แต่ภายหลังมีการสลายการชุมนุมโดยมิชอบไม่เป็นไปตามหลักสากล กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และผู้บาดเจ็บ 471 ราย

เปิด

แม้ยกแรก!! ของการกล่าวหา "4 บิ๊กการเมือง-ตำรวจ" จะยิ้มได้เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ก็ได้แค่ยิ้มอ่อนๆ เท่านั้น แล้วต้องถอนหายใจลึกๆ อีกครั้งเมื่อ ป.ป.ช.หยิบสำนวนมาฟ้องเองและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มีคำสั่งวันที่ 9 ก.พ.58 ประทับรับฟ้องคดีไว้มีคำพิพากษาซะด้วย !! โดยเมื่อศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีแล้วก็ส่งหมายแจ้ง "4 บิ๊กการเมือง-ตำรวจ" ที่ตกเป็นจำเลย ให้เดินทางมาศาลเพื่อสอบคำให้การ เดือน พ.ค.58 จึงเป็นแสดงตัวต่อศาลเป็นครั้งแรกของ"4 บิ๊กการเมือง-ตำรวจ" ตามขั้นตอนเพื่อจะสอบคำให้การว่า จะรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธต่อสู้ แล้วก็ไม่เกินคาดจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และก็ทยอยยื่นคำร้องขอประกันตัวไป โดย " อดีตนายกฯนายสมชาย ประกันในวงเงิน 9.5 ล้านบาท , "บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต" อดีตรองนายก ฯ วงเงิน 8 ล้านบาท ส่วน " พล.ต.อ.พัชรวาท" อดีต ผบ.ตร. และ " พล.ต.ท.สุชาติ" อดีต ผบช.น. วงเงินคนละ 6 ล้านบาท แต่ที่สำคัญ คือ ศาลกำหนดเงื่อนไขด้วยห้ามจำเลยทั้งสี่เดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากศาล ซึ่งเป็นแนวทางปกติที่ใช้ในทุกคดีในศาลฎีกาฯ

เปิด

ส่วนที่ "อดีตนายกฯสมชาย บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต" จำเลยที่ 1-2 ยื่นคำร้องขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลยอ้างเหตุจำเลยติดภารกิจกับคดีนี้มีอัตราโทษไม่สูงนั้น ศาลก็เห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องมาศาลทุกนัด หากไม่สามารถมาศาลนัดใดให้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาลับหลังเป็นครั้งๆ ไป ซึ่งศาลจะพิจารณาเป็นครั้งคราวไป

และเมื่อมาถึงเวลาต้องขึ้นศาล เปิดหน้า สู้ยกสอง!! กับข้อกล่าวหา ป.ป.ช. เหล่าจำเลยก็ไม่ใช่เสือที่จะสิ้นลาย แม้เกือบจะเหมือนมวยรองถูกต้อนเข้ามุม แต่พวกเขายังพร้อมง้างหมัดเด็ดเปิดทางสู้ไม่ถอย ด้วยพื้นฐานที่พวกเขาต่างมีความรู้กฎหมายติดตัวกันมาเริ่มแรกจึงออกหมัดแย๊บหวังที่จะให้อัยการมาเป็นผู้รับผิดชอบแก้ต่างให้เพราะเชื่อศักยภาพซึ่งอัยการเรียกได้ว่าเป็นทนายความแผ่นดิน โดยพวกเขาร่วมกันแถลงศาลว่า จำเลยทั้งสี่ประสงค์จะให้พนักงานอัยการแก้ต่างคดีให้ โดยได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความแล้ว ขณะเดียวกันนายสมชาย อดีตนายกฯ , พล.อ.ชวลิต อดีตรองนายก ฯ และ พล.ต.ท.สุชาติ อดีต ผบช.น. จำเลยที่ 1,2,4 ขอถอนทนายความเดิม ซึ่งอีกมุมได้ยินว่า คณะทำงานอัยการเองโดยเสียงส่วนใหญ่ก็เคยเห็นว่าไม่สามารถแต่งตั้งอัยการได้เนื่องจากมีความไม่เหมาะสมหลายประการ แต่กลับมีแรงผลักเสนอรื่องจะให้แต่งตั้งอัยการช่วยแก้ต่างคดี

เปิด

แต่หมัดแย๊บที่ส่งออกไปนี้ กลับไม่เข้าเป้า กลายเป็นการชกลม เลย เมื่อนายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งฯ เจ้าของสำนวนคดี และองค์คณะที่มี นายชีพ จุลมนต์, นายชาติชาย อัครวิบูลย์ , นางพฤษภา พนมยันตร์ , นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา 4 คน , นายนิยุต สุภัทรพาหิรผล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายโสภณ โรจน์อนนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ , นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวฯ และนายนิพนธ์ ใจสำราญ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา มีมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่า พ.ร.บ.องค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 11 บัญญัติว่า " ให้มีพนักงานอัยการไว้เป็นทนายแผ่นดินประจำศาลต่างๆ" ซึ่งแม้มาตรา 14 (4) บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความแผ่นดินตาม มาตรา 11 ไม่ใช่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อต่อสู้คดีกับแผ่นดินในกรณีที่แผ่นดินโดยองค์กรของรัฐเป็นผู้ฟ้องคดีเสียเอง ประกอบกับการดำเนินคดีนี้ศาลจะต้องใช้สำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา และเมื่อปรากฏจากคำฟ้องว่า อัยการสูงสุด ส่งสำนวน , รายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องคืนให้กับ ป.ป.ช. โจทก์เพื่อฟ้องคดีเอง แสดงว่าอัยการสูงสุดเห็นควรไม่ฟ้องคดีนี้ให้กับองค์กรของรัฐแล้ว ดังนั้นการที่พนักงานอัยการ จะเข้าแก้ต่างคดีนี้ให้กับจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ซึ่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่ ป.ป.ช.โจทก์ ฟ้องคดีนี้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 10,11 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ดังนั้นองค์คณะฯ จึงเห็นว่า อัยการไม่มีอำนาจเข้าแก้ต่างคดีนี้ ให้กับจำเลยที่ 1-4


แล้วเอางัยละทีนี้..?? พวกเขาก็ต้องเริ่มยกสอง ด้วยการตั้งทนายความเข้ามาในคดีใหม่ เพื่อรวบรวมพยานหักล้างข้อกล่าวหาและแก้ต่างประเด็นของ ป.ป.ช.ที่ตั้งเรื่องมา ซึ่งการพิจารณาคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 25 บัญญัติไว้ว่า "การฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง ในวันยื่นฟ้องให้โจทก์ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาล เพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาและรวมไว้ในสำนวน" เท่ากับว่าศาลจะพิจารณาสำนวนหลักฐานของ ป.ป.ช.เป็นหลัก นั่นแปลความได้ว่า เมื่อสู้คดี ก็ต้องหาพยานที่จะมาหักล้างน้ำหนักพยานของ ป.ป.ช.ให้ได้ ซึ่งดูเหมือน ป.ป.ช.จะได้แต้มนำก่อน


เปิด

แต่การพิจารณาของศาลฎีกาฯ นี้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ที่ใช้ระบบการไต่สวน และมาตรา 31 บัญญัติว่า "ในการไต่สวน ให้องค์คณะผู้พิพากษาสอบถามพยานบุคคลเอง โดยการแจ้งให้พยานทราบประเด็นและข้อเท็จจริงซึ่งจะทำการไต่สวน แล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้นโดยวิธีแถลงด้วยตนเองหรือตอบคำถามศาล แล้วจึงให้โจทก์จำเลยถามเพิ่มเติมต่อไป" นั่นเท่ากับว่าศาลซึ่งเป็นกรรมการ จะกดให้คะแนนเองว่าโจทก์ หรือ จำเลย ใครจะได้คะแนน

ยกสาม!!ถึงเวลาออกหมัดตรงเสียทีฝั่ง ป.ป.ช. ก็รวบรวมพยาน จากที่เคยจัดพยานบุคคลไว้ร่วม 66 ปาก แต่เมื่อมีการตรวจประเด็นร่วมกับศาลแล้วเหลือจะถามพยานโจทก์ในการไต่สวนกว่า 20 ปากโดยมีพยานเอกสารอีก 7 แฟ้มใหญ่เสนอศาลประกอบการไต่สวน ขณะที่ฝั่ง "4 บิ๊กการเมือง-ตำรวจ" รอบแรกก็จัดพยานกว่า 600 ปากที่หนักไปทางพยานกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างๆแต่เมื่อศาลให้ไปตรวจดูพยานที่ซ้ำและประเด็นที่จะซักถามพยานจริงๆ แล้วเหลือพยานประมาณ 100 ปาก ก่อนที่จะร่วมดูพยานและประเด็นกับศาล สุดท้ายฝั่งจำเลยเหลือพยานจำเป็นๆ เพียง 19 ปาก ซึ่งไม่มากไม่น้อยไปกว่าฝ่าย ป.ป.ช. ที่จำเลยจะนำมาแก้ต่างเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์และเจตนาของการกระทำตามข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ โดยศาลให้เริ่มไต่สวนพยานครั้งแรกในวันที่ 8 เม.ย.59 กระทั่งจบในนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.60

เปิด

ขณะที่รอบนี้ ทนายความ ของ ป.ป.ช. ก็วางแนวทางจัดพยานไว้เป็นกลุ่มๆ เพื่อสะดวกต่อการนำสืบซักถามประเด็น เริ่มจากการเปิดคดีด้วยการนำ นายวีระ สมความคิด นักสิทธิมนุษยชนและประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อกล่าวหาจำเลยในชั้นป.ป.ช. เป็นพยานปากแรก บอกเล่าถึงการปิดล้อมอาคารรัฐสภาว่ากลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯนั้นไม่ต้องการให้รัฐบาลนายสมชายแถลงนโยบาย เพราะเห็นว่านายสมชาย เป็นนอมินีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หนีไปอยู่ต่างประเทศ เพราะผู้ชุมนุมกลัวว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่เองก็พยายามจะสลายการชุมนุมแทบทุกจุด จากนั้นก็ตามมาด้วยนายสุรชัย ภู่ประเสริฐ อดีตเลขาธิการ ครม. สมัยรัฐบาลนายสมชาย เป็นพยานอีกปาก เล่าถึงการกำหนดแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และสถานที่จะใช้แถลง

จากนั้นก็มี กรรมการ ป.ป.ช.และคณะอนุที่ทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงชั้นรวบรวมหลักฐานเบิกความตามมาเป็นระลอกๆ ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯซึ่งมีทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียอวัยวะ , กลุ่มนักวิชาการ และชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งกลุ่มนี้แม้จะไม่ได้นำเอา บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.,พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ อดีต ผบช.สตม. , พล.ต.ต.ลือชัย สุดยอด รอง ผบช.ภ.3 , พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวน อดีต รอง ผบช.น. และ พล.ต.ท.อนันต์ ศรีหิรัญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่เกี่ยวข้องช่วงเหตุการณ์ตามหน้าที่มาเบิกความต่อหน้าศาล เพราะช่วงที่จะสืบพยานคือ ปี 2559 พยานนั้นติดภารกิจ แต่ทั้งหมดก็เคยให้การในสำนวน ป.ป.ช.ไว้แต่แรกแล้ว ทนายจึงเลือกยื่นเป็นเอกสารคำให้การในชั้น ป.ป.ช.แทน

เปิด

แล้วการลุกขึ้นสู้ของ "4 บิ๊กการเมือง-ตำรวจ" ก็เริ่มจะเรียกเสียงเชียร์อีกครั้ง เมื่อระหว่างการไต่สวนพยาน "อดีตนายกฯสมชาย" จำเลยที่ 1 ได้ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารสำนวนคดีที่ ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ปี 2553 ,นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปี 2553 และ พล.อ.อนุพงษ์ อดีต ผบ.ทบ ปี 2553 ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 เพื่อจำเลยจะนำมาเป็นใช้พยานหลักฐานในคดีนี้ ซึ่ง ป.ป.ช.ส่งเพียงบันทึกสรุปผลการวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ กับพวกไม่มีมูลมาให้ เพราะป.ป.ช.เห็นว่าหากส่งสำนวนให้นายสมชาย จำเลยอีกคดีจะเกิดผลเสียหายกับพยานในคดีนายอภิสิทธิ์กับพวก ถูกกล่าวหา และก็ไม่เกิดประโยชน์กับสาธารณะด้วย

แต่สุดท้ายศาลได้พิเคราะห์ถึงเหตุจำเป็นแล้วเห็นว่า ป.ป.ช.ส่งเอกสารสรุปข่าวให้จำเลยที่ 1 แล้ว ขณะที่ 2 เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แถมพยานหลักฐานก็คนละชุดกันด้วย จึงไม่มีเหตุให้ ป.ป.ช.ส่งเอกสารที่ร้องขอเข้ามาเป็นหลักฐานในคดีนี้เว้นแต่จะเป็นเอกสารสรุปผลการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ที่ตัดรายชื่อพยานออกเพื่อความปลอดภัย !!

เปิด

ส่วน พล.ต.ท.สุชาติ อดีต ผบช.น. จำเลยที่ 4 ก็ขอร่วมทางสู้ ด้วยการขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารที่เคยให้การเพิ่มเติมกับ ป.ป.ช. รวม 11 แฟ้ม 3,000 แผ่น ที่ ป.ป.ช. ยังไม่จัดส่งให้โดยอ้างว่าเอกสารยังไม่ครบ โดยศาลก็ได้ตรวจสอบเอกสารที่อ้างแล้วพบว่า เอกสารส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองหน่วยงานอื่นหรืออยู่กับจำเลยที่ 4 เอง จำเลยย่อมสามารถหาเอกสารเองได้โดยไม่ต้องรอส่ง แล้วหากจำเป็นต้องใช้ในการซักค้านก็สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาได้ ส่วนเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของ ป.ป.ช.ก็สามารถให้ส่งมาภายหลังได้ กรณีจึงไม่เป็นเหตุให้ต้องเลื่อนการไต่สวนพยานออกไปอีก

ยกนี้แม้ไม่ได้แย๊บลม แต่ก็ชกไม่เข้าเป้า!! ก็ต้องตั้งการ์ดรอจังหวะออกหมัดใหม่ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีผู้สนับสนุนอย่างไม่ทางการออกมา ซึ่งหลังจากมีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลโดย คสช. ระหว่างนั้นมีการปรับบทบาทองค์กรต่างๆ ตามไปด้วย กระทั่งเคยมีกระแสข่าวว่า ป.ป.ช.จะตรวจสอบข้อกฎหมายว่าจะถอนฟ้องคดีหรือไม่? อ่ะ อ่ะ อ่ะ อ้าว จริงหรือนี่ งงดิ งงดิ!! ขนาดบิ๊กจิ๋ว เคยแสดงทัศนะเป็นภาษาอีสานว่า" บ่ฮู้ บ่เห็น บ่หัน " แล้วจะมีมูลหรือไม่? สุดท้ายทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องบุคคล พี่พ้องน้องพี่ใครหรือไม่..? กลายเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ

เปิด

จนเมื่อนายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรฯ , ทนายความ และนายชิงชัย อุดมเจริญกิจ ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม พากันมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม 2 ฉบับ ต่อนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา และองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 18 พ.ค.59 กรณีที่มีข่าวแว่วกันมาว่า ป.ป.ช.มีแนวทางจะถอนฟ้องคดีที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯไปแล้ว ซึ่งการเรียกร้องครั้งนี้พูดกันถึงว่า ขณะที่คดีอยู่ระหว่างไต่สวนพยานโจทก์ แต่ต่อมามีการยื่นขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช.อ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่และขอให้พิจารณาถอนฟ้องคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่ง ป.ป.ช.ชุดใหม่ก็ตั้งคณะทำงานพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯกลัวว่า จะมีการดำเนินการเพื่อขอถอนฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯจริงๆ ทั้งที่ ป.ป.ช.ชุดก่อนใช้เวลาไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานนานกว่า 7 ปี จนเวลาล่วงเลยมาคำตอบก็เคลียร์ว่า ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ยื่นถอนฟ้องคดี

กระทั่งยกสี่!! ก็ถึงคราวที่ไต่สวนพยานจำเลย "4 บิ๊กการเมือง-ตำรวจ" ที่มีทั้งตัวจำเลยเอง และพยานประมาณ 19 ปาก รวบหมัดสู้ทั้งประเด็นข้อเท็จจริง และโต้แย้งเจตนาต่อการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าทำมิชอบ รวมทั้งหยิบยกบทบัญญัติในกฎหมายว่าให้อำนาจใดบ้างกับตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ในปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์การชุมนุม อาทิ นายสุเจษฎ์ โค้วคาสัย อัยการอาวุโส หนึ่งในอัยการที่พิจารณาสำนวน ที่เล่าถึงการคณะทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด กับ ป.ป.ช.ที่พบว่าสำนวนยังมีข้อไม่สมบูรณ์ 5 ข้อ

กระทั่งอัยการอัยการสูงสุดมีความเห็นชี้ขาดถึงที่สุดสั่งไม่ฟ้อง ด.ต.เสก ตราเงิน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติผู้อยู่ในเหตุการณ์เผชิญกับกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 3,000 คนที่แยกพิชัยซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เจรจาขอเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาและเหตุการณ์สลายการชุมนุม , พล.ต.ต.โกสินธ์ บุญสร้าง รอง ผบช.ตชด. ตำแหน่งขณะเกิดเหตุปี 2551 , พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ หัวหน้าชุดหาข่าวกลุ่มผู้ชุมนุม ตำแหน่งขณะเกิดเหตุปี 2551 ,พ.ต.อ.สมชาย เชยกลิ่น ผกก.สน.ดุสิต ตำแหน่งขณะเกิดเหตุปี 2551 ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ก็มาเบิกความถึงสถานการณ์เมื่อวันที่ 6-7 ต.ค.51 , พล.ต.ต.ภูวดล วุฑฒกนก ผบก.กองพลาธิการและสรรพาวุธ และ พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ ชาติเชื้อ สารวัตรงานคลังอาวุธและวัตถุระเบิด ตำแหน่งขณะเกิดเหตุปี 2551 เบิกความชั้นศาลถึงการใช้แก๊สน้ำตา

เปิด

ซึ่งก่อนจบยกที่สี่ " อดีตนายกฯสมชาย " จำเลยที่ 1 ที่ถูกกล่าวว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และละเว้นปฏิบัติหน้าที่ต่อการสั่งคืนพื้นที่การชุมนุมนั้น ได้ปล่อยหมัดเด็ดที่เขาถนัด โดยนักกฎหมายระดับอดีตผู้พิพากษาขอแถลงปิดคดีด้วยวาจาด้วยตนเอง ในนัดไต่สวนพยานครั้งสุดท้ายวันที่ 30 มิ.ย.60 พร้อมยื่นคำแถลงที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรความยาว 20 หน้าให้ศาลด้วยเพื่อจะสรุปภาพรวมจิ๊กซอว์ให้ศาลฎีกาฯ ได้เห็นว่าเขาทำทุกอย่างตามอำนาจหน้าที่แล้ว ไม่ใช่การละเมิดต่อกฎหมายจนเกิดความเสียหาย

" ครม.มีหน้าที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วันหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ โดยประธานรัฐสภาได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายในวันที่ 7 ต.ค.51 แต่ช่วงค่ำวันที่ 6 ต.ค.51 ผู้ชุมนุมได้เริ่มเคลื่อนตัวมาปิดล้อมรัฐสภามีจุดประสงค์ไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบาย ตนเห็นว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ หากถูกขัดขวาง ครม.ก็ไม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งศาลปกครองเคยวินิจฉัยว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ที่โจทก์กล่าวหาว่าตนกระทำผิดมาตรา 157 โดยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งตนไม่ได้กระทำการอันใดที่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายกับผู้ชุมนุม และจากการไต่สวนก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีพยานใดชี้ว่าตนกระทำการโดยมีเจตนาให้เกิดการบาดเจ็บเสียหายกับผู้ชุมนุม

และในวันที่ 6 ต.ค. 2551 ตนคาดหมายแล้วว่าหากมีการเเถลงนโยบายอาจการเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมจะเกิดความไม่สงบได้ จึงคิดว่าจะต้องมีการเปลี่ยนสถานที่หรือเลื่อนการแถลงนโยบายออกไป จึงให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีประสานไปยังประธานรัฐสภาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งการ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถทำได้ทั้งสองอย่าง เพราะล่วงเลยเวลาดำเนินการเเละขัดข้อบังคับของสภา ตนจึงเชิญครม.และ พล.อ.ชวลิต จำเลยที่ 2 มาประชุมปรึกษาหาทางออก ขณะที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 และ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลสถานการณ์เพื่อรายงาน ครม. โดยตนก็ไม่ได้สั่งการใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของตำรวจ เเละขณะนั้นไม่มีใครเสนอเรื่องการสลายการชุมนุม เเละไม่มีการสลายการชุมนุมเเต่อย่างใด โดยเมื่อ ครม.ทราบมีคำสั่งของประธานสภาจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเเถลงนโยบาย หากไม่สามารถเข้าไปในรัฐสภาได้ก็จะให้ฟังคำสั่งประธานสภาอีกครั้ง และครม.มีมติให้พล.อ.ชวลิต จำเลยที่ 2 ประสานงานร่วมเพื่อให้คำปรึกษาแก้ปัญหาให้เกิดความเรียบร้อย

เปิด

โดยเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นผลการประชุมร่วมเเละเป็นมติ ครม.ไม่ใช่คำสั่งของตน ในวันรุ่งขึ้น 7 ต.ค. 2551มีการประชุมตามนัดหมาย หลังตนแถลงนโยบายเสร็จมีการติดต่อให้ตนรีบออกจากรัฐสภา เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยตำรวจได้เจรจาผู้ชุมนุมขอให้เปิดทาง และแจ้งกับตนว่าหากไม่เปิดทางมีความจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งตนก็ได้ห้ามไว้เพราะกลัวเกิดความโกลาหลวุ่นวาย เเละเหตุการณ์บานปลายพร้อมทั้งขอให้แก้ปัญหาด้วยความละมุนละม่อม ซึ่งทาง ผบช.น.ก็ได้เเจ้งว่ามีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามขั้นตอนอยู่เเล้ว เเต่ถ้าไม่ใช้เเก๊สน้ำตาก็จะต้องใช้วิธีปีนกำเเพงที่มีความสูงพอสมควรออกไป ซึ่งหลังการเจรจาไม่เป็นผล ตนก็ตัดสินใจที่จะต้องปีนกำแพงออกไปฝั่งพระที่นั่งวิมานเมฆ ทั้งที่ตนมีสิทธิเสรีภาพของตนเช่นคนอื่น

เหตุการณ์ดังกล่าวก็เเสดงให้เห็นว่า ตนมิได้มีเจตนาให้เกิดความเสียหาย ซึ่งหลังจากตนออกจากรัฐสภาแล้ว คิดว่าทุกอย่างจะคงจบ เพราะตนแถลงนโยบายเสร็จและออกจากรัฐสภาเดินทางไปที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยในช่วงที่เกิดเหตุตนไม่ได้อยู่ในสถานที่ดังกล่าว และไม่ได้รับรายงานเหตุรุนแรง เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงเฉพาะหน้าที่ของตำรวจ ไม่ใช่หน้าที่นายกฯและที่ตำรวจไม่รายงานเข้ามาก็เป็นเรื่องปกติซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาเคยระบุว่าผู้กระทำผิดตามมาตรา 157 ต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงตนไม่ได้เกี่ยวข้องเพราะเป็นอำนาจของตำรวจ ส่วนที่กล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ ผู้เสียชีวิตคนแรกขับรถบรรทุกระเบิดเข้ามาด้วยตัวเองและเกิดระเบิดขึ้น ส่วน น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งตำรวจบอกว่ามีสารซีโฟร์ไม่ใช่แก๊สน้ำตา จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับตน

ที่ผ่านมาตนได้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รับราชการมาหลายปี เป็นทั้งฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เคยมุ่งร้ายให้ใครเดือดร้อน มีแต่ทำงานด้วยความประนีประนอม มีหน้าที่ดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน และไม่ได้เลือกปฏิบัติ จึงขอได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมด้วย" นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงการปิดคดีด้วยวาจา

เปิด

ไม่ว่า..มุมของ "ป.ป.ช.โจทก์" และ มุมของจำเลย "4 บิ๊กการเมือง-ตำรวจ" จะออกหมัดทำแต้มกันแค่ไหน สุดท้ายต้องลุ้นแต้มจากองค์คณะฯ ในการตัดสินเกมยกสุดท้ายว่า จะพิพากษาผลของการกล่าวหานี้อย่างไร..? จำเลยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่..? ได้ทำการที่ละเมิดต่อกฎหมายโดยไม่มีอำนาจ..? หรือมีอำนาจแล้วไม่ทำตามหลักและข้อกำหนดที่บัญญัติไว้หรือไม่..? หรือเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญาหรือไม่..?


พรุ่งนี้ สังคมจะได้รู้คำตอบ.!2 ส.ค.60 จะได้บันทึกประวัติศาสตร์คดีที่มีการกล่าวหานายกรัฐมนตรีอีกครั้งว่าผิดหรือไม่ผิด

logoline