svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

หยวนระเบิดศึกดอลลาร์! ขู่ขายทิ้งบอนด์รัฐบาลสหรัฐ รักษาเสถียรภาพค่าเงิน

05 มกราคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เงินหยวนระเบิดศึกดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ต้นปี 2017 โดยนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางจีน (PBOC) ออกมาข่มขู่ว่าจะขายทิ้งบอนด์รัฐบาลสหรัฐที่ถือในมือราว 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ หากยังเกิดวิกฤติเงินทุนไหลออกและมีความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพเงินหยวน

หลังจากจีนต้องประสบปัญหาเงินทุนไหลออกมากกว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2015 ตามรายงานของโกลด์แมน แซคส์ ทำให้เงินหยวนถูกกดดันให้อ่อนค่าร่วงลงอย่างรวดเร็วใกล้ระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ในช่วงวันส่งท้ายปี 2016 จนกระทั่งทางการจีนพยายามปกป้องค่าเงินหยวนจนกระทั่งมีการปรับสูตรตะกร้ากำหนดค่าเงินหยวนใหม่ด้วยการเพิ่มอีก 11 สกุลเงินใหม่ รวมเป็น 24 สกุลเงินซึ่งมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2017
รวมทั้งกำหนดโควต้าแลกเงินหยวนเป็นเงินตราต่างประเทศในวงเงินครั้งละไม่เกิน 50,000 หยวนลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 200,000 หยวน หวังรักษาเสถียรภาพของเงินหยวนรวมทั้งสกัดการไหลออกของเงินทุน โดยทางการจีนยืนยันว่าไม่ได้เป็นการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าและออก หรือ Capital Control แต่เป็นเพียงข้อกำหนดในการไหลเข้าออกของกระแสเงินทุนที่มีความเหมาะสม

1.ในขณะที่การเคลื่อนไหวของเงินหยวนนับจากวันเริ่มต้นปีใหม่เป็นต้นมายังคงมีความผันผวน ขณะที่เงินหยวนในตลาดออนชอร์ซื้อขายในประเทศที่ระดับ 6.9450-6.9560 ต่อดอลลาร์ ส่วนเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ซื้อขายในต่างประเทศถูกกระชากให้แข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรงที่ 6.8807 จากที่ดิ่งลงแตะ 6.9870 ในช่วงสิ้นปีที่แล้ว ส่งผลให้เงินหยวนที่ซื้อขายในประเทศกลับมาแข็งค่าขึ้นที่ 6.9340 ต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ทำให้ต้องจับตาใกล้ชิดถึงมาตรการปกป้องค่าเงินหยวนของ PBOC ให้มีเสถียรภาพนั้นจะประสบผลสำเร็จอย่างไร เนื่องจากก่อนหน้านี้นักค้าเงินยังคงมองว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ในช่วงต้นปี 2017 นี้
รวมทั้งจับตาท่าทีการตอบโต้จาก PBOC ในการขายทิ้งบอนด์รัฐบาลสหรัฐนับจากนี้ไป หลังจากที่กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยรายงานเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ยอดการถือครองของจีนร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2010 ซึ่งในรายงานระบุว่า จีนปรับลดยอดการถือครองบอนด์รัฐบาลสหรัฐลงจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2016 มียอดการถือครองทั้งหมดลดลงแตะ 1.1157 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ขณะเดียวกันทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มียอดการถือครองมากที่สุดแทนจีนที่ 1.1319 ล้านล้านดอลลาร์ โดยที่ยอดการถือครองบอนด์สหรัฐโดยรัฐบาลต่างชาติมียอดรวมถึง 6.0389 ล้านล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ว่า การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์มีผลกระทบต่อปริมาณเงินทุนหมุนเวียนของจีน และส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่าลง โดยเฉพาะในปี 2016 เป็นปีค่อนข้างเลวร้ายสำหรับจีนเมื่อเงินหยวนต้องอ่อนค่าลงถึง 6.5 % เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ดังนั้นการระเบิดศึกปกป้องค่าเงินหยวนจะยังคงไม่จบลงโดยรวดเร็ว ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิดอย่างต่อไปอีก


2.หนี้โลกพุ่งเป็นจรวด ทำสถิติสูงสุดทะลุ 217 ล้านล้านดอลลาร์ จนแตะ 325% จีดีพีโลก ในรายงานล่าสุดของ McKinsey สถาบันวิจัยของสหรัฐ หลังจากพบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2016 นั้นมูลหนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 11 ล้านล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ยอดหนี้ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกพุ่งทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ดังกล่าว
โดยยอดหนี้ที่พุ่งขึ้นนั้น เป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งไม่นับรวมสหรัฐ มีการก่อหนี้สูงขึ้นมากที่สุด 44% ต่อมาเป็นการก่อหนี้ในส่วนของสหรัฐเพิ่มขึ้น 37.7% และเป็นการก่อหนี้เพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ 17%


3.นอกจากจี้สหรัฐได้เปิดเผยฐานะยอดหนี้ของรัฐบาล ณ สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2016 นั้นมียอดหนี้ทะลุถึง 19.98 ล้านล้านดอลลาร์เป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านล้านดอลาร์ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการจัดทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุคสมัยของรัฐบาลบารัก โอบามา ตลอดช่วง 8 ปีนับจากปี 2009-2016 มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น 9.35 ล้านล้านดอลลาร์ จากยอดหนี้ 10.63 ล้านล้านดอลลาร์
แต่มีข้อน่าสังเกตว่า ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะเข้ามาเป็นผู้นำใหม่ของสหรัฐ มีเป้าหมายกระตุ้นจีดีพีให้เติบโตถึงปีละ 4% ซึ่งเป็นแผนงานที่ทีมทรัมป์ไว้ในช่วง 8 ปีนับจากนี้ โดยที่ในปีงบประมาณ 2018 อาจจะต้องตั้งงบประมาณขาดดุลสูงถึง 8% ของจีดีพี ในทีสุดจะทำให้รัฐบาลภายใต้ทรัมป์จะเจอทางตันเหมือนกับรัฐบาลโอบามาในสมัยแรกจนเกิดภาวะรัฐบาลต้อง shutdown รวมถึงแนวโน้มที่จะเกิดภาวะผิดนัดชำระหนี้ หรือ Defaults จะเปิดซ้ำรอยหรือไม่

4.ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยในรายงานที่เป็นเบื้องหลังการประชุมนาทีต่อนาทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ FOMC เมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งมีเจเน็ต เยลเลน เป็นประธานได้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 0.75% โดยใรการแถลงว่าอาจจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2017
โดยความเห็นของ FOMC ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นท่าทีที่พุ่งเป้าหมายไปที่ปัจจัยเสี่ยงอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนในนโยบายการบริหารของทรัมป์ที่อาจจะส่งผลที่เป็นไปได้ทั้งด้านที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเชื่องช้าลดต่ำลงจากที่ประมาณการเอาไว้ ดังนั้นตลาดจึงยังคงจับตาการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ของทรัมป์ในวันที่ 20 มกราคม และท่าทีการประชุมของเฟดครั้งแรกของปีนี้ในวันที่ 31 มกราคม- 1 กุมภาพันธ์


5.Dollar Index ผันผวนหนัก ร่วงลงแตะ 102.70 เมื่อวันพุธ หลังจากที่พุ่งขึ้นเฉียด 104 ในวันอังคาร โดยบลูมเบิร์กชี้ว่า เหตุผลของการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐช่วงวันที่ 8 พฤศจิกายนปีที่แล้วโดยแข็งค่าขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับ 10 สกุลหลักทั่วโลก รวมทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็มีส่วนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีก 1.1%
ในขณะที่ก่อนการเลือกตั้งนั้น Dollar Index อยู่ที่ระดับ 98 โดยมาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 103.97 ในวันที่ 3 มกราคม ดังนั้นทิศทางของเงินดอลลาร์จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสำหรับนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาค่าเงินอ่อนและการไหลออกของกระแสเงินทุน



logoline