svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แรงงานขอค่าจ้าง 360 บาทตามค่าครองชีพ

01 พฤษภาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอรัฐบาลขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานเป็นวันละ 360 บาทตามอัตราค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น เผยผลสำรวจพบแรงงานมีหนี้สินเฉลี่ย 1.8 หมื่นบาทต่อเดือน

ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานกว่า 10 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 5 ล้านคน โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้ร่วมกับเครือข่ายแรงงานสำรวจค่าครองชีพของแรงงานในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 2,933 คน จาก 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครปฐม ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี นนทบุรี ระยอง อ่างทอง โดยการการศึกษาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายรายวันระหว่างเดือนสิงหาคม 2556และเดือนมีนาคม 2558
ผลสำรวจพบว่า ในเดือนสิงหาคม 2556 มีค่าใช้จ่ายรวมต่อวันอยู่ที่ 352.53 บาท ขณะที่เดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ 360.72 บาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.19 บาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าเดินทาง/ค่าน้ำมันรถ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ ของใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างสบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น
ประธานคสรท. บอกว่า แรงงานส่วนใหญ่ที่สำรวจอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ ฯลฯ อายุระหว่าง 20 - 39 ปี ร้อยละ 82.2 ซึ่งพบว่าส่วนมากมีภาระเลี้ยงดูบุคคลอื่นที่ไม่มีรายได้ เช่น บิดา มารดา และพบแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำถึงร้อยละ 30.93
ส่วนหนี้สินนั้นพบว่าแรงงานร้อยละ 16.01 เป็นหนี้บัตรเครดิตผ่อนชำระเดือนละ 3,033 บาท หนี้นอกระบบร้อยละ 22.73 ผ่อนชำระเดือนละ 4,306 บาท หนี้ธนาคารร้อยละ 23.20 ผ่อนชำระเดือนละ 4,395 บาท และหนี้สินอื่นๆร้อยละ 38.05 ผ่อนชำระเดือนละ 7,207 บาท
คสรท.ขอเรียกร้องให้การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างในเดือนตุลาคมนี้ ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ จาก 300 บาท เป็น 360 บาททั่วประเทศ เนื่องจากเห็นว่าค่าครองชีพทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะนำเสนอข้อมูลต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงานและรัฐบาล เพื่อใช้พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลจัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้ชัดเจน และสร้างกลไกในการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานเกิน 1 ปี ให้มีการปรับค่าจ้างด้วย

logoline