svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เลขาสมช."ลั่น ไม่มีความจำเป็นยกเลิกกฎอัยการศึก

18 ธันวาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เลขาสมช.ลั่นไม่มีความจำเป็นยกเลิกกฎอัยการศึก เผยการข่าวช่วงปีใหม่ไม่มีอะไรน่าห่วง เชื่อเหตุจับตัวประกันที่ออสเตรเลียไม่เกี่ยวกับไทย ระบุ นายกฯเรียกถกสมช. เพื่อวางยุทธศาสตร์ความมั่นคง2558- 2564

สมช.--18ธ.ค.2557--เมื่อเวลา 13.00น. ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ถึงการประเมินสถานการณ์รับมือในช่วงเทศกาลปีใหม่ ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องเร่งรัดดูแลในส่วนของความปลอดภัย มีการตรวจสอบติดตามหาข่าว และจัดระเบียบบริหารจัดการความมั่นคง ซึ่งมีศูนย์บริหารความมั่นคงแบบบูรณาการที่อยู่ที่กระทรวงกลาโหม โดยประสานงานกับทุกกระทรวงและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในการดูแลความปลอดภัย ซึ่งทางการข่าวยังไม่มีสัญญาอะไรน่าเป็นห่วงแม้จะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลีย เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับประเทศไทยเป็นเพียงวิธีคิดของคนๆเดียวที่นิยมความรุนแรง สำหรับประเทศไทยและอีกหลายประเทศเปิดกว้างในเรื่องของการท่องเที่ยวก็ย่อมมีคนหลายประเภทเข้า-ออก แต่เราก็ไม่ได้ละเลย มีการเฝ้าระวังและมีความร่วมมือกับนานาชาติ แต่ยืนยันไม่ใช่เรื่องน่าห่วง
ประเทศไทยยังคงประกาศใช้กฎอัยการศึกต่อไป เพราะไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องยกเลิกเพราะมีคำตอบให้กับประชาชนอยู่แล้ว ถ้าทุกอย่างยังไม่เรียบร้อยและคาดว่าบ้านเมืองยังไม่มีความสงบก็คงอยู่ของกฎอัยการศึกก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไร ยกเว้นผู้ที่จะไปเคลื่อนไหวและก่อความไม่สงบเลขาฯสมช. กล่าว
ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายอนุสิษฐ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติในภาพรวม 7 ปี คือระหว่างปี 2558- 2564 สิ่งที่พลเอกประยุทธ์เน้นย้ำเป็นพิเศษคือทำอย่างไรให้งานด้านความมั่นคงของชาติสามารถเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และนำไปสู่การบริหารราชการแผ่นดิน ปัจจุบันบ้านเมืองวิกฤติการเชื่อมโยงของโลกเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้งานด้านความมั่นคงต้องเดินควบคู่ไปกับงานพัฒนา ดังนั้นโครงสร้างบริหารงานมั่นคงในอนาคตต้องปรับตัว หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหมดจะต้องทำงานหนักพอสมควร
เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า สำหรับภัยคุกคามต่างๆ สมช.มองในหลายระดับ โดยในส่วนของระดับโลก มีความเคลื่อนไหวของของอำนาจต่างๆจำนวนมาก ที่พยายามเข้ามาขยายอิทธิพลในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เราต้องเปลี่ยนบทบาทของความร่วมมือโดยเฉพาะในมิติความมั่นคงต้องวางกรอบการทำงานร่วมกับประเทศมหาอำนาจอย่างสมดุล ในส่วนของภูมิภาคเรามีความเชื่อมโยงกันอยู่ มีการจัดตั้งการจัดตั้งสหภาพยูโรป (อียู) กลุ่มประเทศต่างๆ กลุ่มการค้า เป็นต้น ไทยเองก็พยายามพัฒนาความเป็นอาเซียนให้มีความเข้มแข็งเพื่อสามารถต่อรอง ดูแลความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน สำหรับเรื่องการข้ามแดน เนื่องจากมีการเปิดประเทศในปี 2558 ก็จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงซึ่งก็ต้องเฝ้าติดตามในเรื่องของการข้ามแดน การหลบหนีเข้าเมือง ภัยพิบัติ รวมทั้งโรคอุบัติใหม่ จึงจำเป็นต้องมีความพร้อมและกำหนดเป็นนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ เพื่อให้กระทรวง ทบวงกรมต่างๆที่มีหน้าที่สร้างความพร้อมเพื่อเผชิญต่อภัยคุกคามต่างๆ
นายอนุสิษฐ กล่าวว่า สำหรับความมั่นคงภายในประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้คือเรื่องความปรองดองของคนในชาติ เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยเป็นสาระสำคัญหลักในงานด้านความมั่นคง ซึ่งจุดประสงค์เรื่องความปรองดองนั้นเกิดจากมีความคิดเห็นที่แตกต่าง หากมีการจัดระเบียบและดูแลความคิดเห็นที่แตกต่างได้ โดยไม่ใช้ความรุนแรง หาระบบการจัดการเพื่อไม่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนความปรองดองก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้กติกา แต่ถ้าปล่อยให้ความอิสระเกิดขึ้นจนไม่มีกติกาก็จะเกิดปัญหา ซึ่งรายละเอียดต่างๆก็อยู่ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งความขัดแย้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากการเข้าสู่อำนาจ การประพฤติมิชอบจากการแก่งแย่ง ทำให้คนเกิดความแตกแยก
นายอนุสิษฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเรื่องของสถาบันหลักของชาติ ถือเป็น 3 เรื่องที่เป็นแก่นหลักที่ สมช.ต้องดูแล ซึ่งจะมีการบริหารจัดการดูแลและเฝ้าระวัง โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีนโยบายทั่วไปอีก 12 เรื่อง อาทิ ความมั่นคงของชาติทางทะเล ซึ่งแต่ละปีเรามีผลประโยชน์ทางทะเลมีมูลค่าสูงกว่า 20 ล้านล้านบาทต่อปี ในอดีตเราค่อนข้างละเลยและยุ่งแต่กับเรื่องบนบก จนลืมว่ากิจการทางทะเล ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล มีผลประโยชน์มหาศาลแต่ขาดการจัดการ ซึ่งขณะนี้ ครม.ได้อนุมัติกรอบยุทธศาสตร์แล้ว นอกจากนี้ก็มีเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมีการบริหารจัดการแล้วเพื่อที่ไม่เกิดช่องว่างได้อีก รวมทั้งเรื่องการหลบหนีเข้าเมือง พลังงานและอาหาร สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญกับภาวะวิกฤติของชาติ

logoline