svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ยกฟ้อง "อภิสิทธิ์-สุเทพ" คดีสลายการชุมนุมปี 53

28 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลอาญายกฟ้อง คดีที่อัยการฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สั่งสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เหตุเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

วันนี้ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดฟังคำสั่งวินิจฉัยอำนาจฟ้อง คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ พระสุเทพ ปภากโร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 และ 84 กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 7 เม.ย. - 19 พ.ค. 2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสอง ได้ร่วมกันกระทำผิดโดยร่วมกันใช้หรือสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยทหารต่างๆ ใช้อาวุธปืนชนิดร้ายแรง ปฏิบัติการผลักดัน ควบคุมพื้นที่ เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตามคำสั่ง ศอฉ.ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก คดีนี้พระสุเทพ จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายเช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นไปก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งจำเลยทั้งสองเห็นว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน ขณะที่ผ่านมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ก็ได้รับเรื่องที่มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในเรื่องเดียวกันนี้ไว้ ซึ่งเบื้องต้นศาลได้สอบถามจำเลยทั้งสองแล้วทราบว่า ป.ป.ช.ก็เคยเรียกจำเลยทั้งสองไปชี้แจง แต่ยังไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหา ขณะที่อัยการโจทก์และทนายความของญาติผู้เสียชีวิต โจทก์ร่วมก็ได้แถลงคัดค้านคำร้องของจำเลยทั้งสอง
วันนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ได้มีการประกาศสถานการฉุกเฉินฯ และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธและกระสุนปืนจริง จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิติ แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องมาการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี จึงพิพากษาว่า คดีอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะวินิจฉัย ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจ ซึ่งหากป.ป.ช.พิจารณาสำนวนคดีแล้วชี้มูลว่ามีความผิดก็จะต้องส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยต่อไป

logoline